เจาะลึกกลยุทธ์ Minor Change เพื่อตอบรับคนยุค New Normal

588 views

รู้จักกับ กลยุทธ์ Minor Change เป็นเรื่องที่คนทำธุรกิจควรต้องรู้!

กลยุทธ์การตลาด เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการทำธุรกิจ ถ้ามีกลยุทธ์ที่ดีและเหมาะกับธุรกิจ โอกาสที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จก็สูงเช่นกัน ซึ่งกลยุทธ์การตลาดมีค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับนักการตลาดจะเลือกใช้กลยุทธ์ไหน แต่ถ้าพูดถึงกลยุทธ์ Minor Change หลายคนน่าจะเคยได้ยินกันบ้าง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่แวดวงธุรกิจรถยนต์ได้นำมาใช้กันเยอะมาก ๆ ปัจจุบันกลยุทธ์ Minor Change นี้ ได้ถูกนำมาใช้ในการวางแผนหลายวงการธุรกิจ ในวันนี้ ZORT พาทุกคนมารู้จัก กลยุทธ์ Minor Change คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรในเชิงธุรกิจ ทำไมถึงเลือกใช้กลยุทธ์นี้ ไม่รอช้า…..ตามเราไปอ่านพร้อมกันเลย

กลยุทธ์การตลาด Minor Change คืออะไร?

กลยุทธ์ Minor Change คือ การนำสินค้าเดิมที่มีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสีใหม่ ๆ ให้กับสินค้านั้น หรือการนำคำติชมของลูกค้า มาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สินค้า ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ Minor Change นี้ส่วนใหญ่เห็นในแวดวงธุรกิจรถยนต์ เนื่องจากสมัยก่อนตลาดรถยนต์มีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือนและสูง ทั้งจัดโปรโมชันหรือแคมเปญทางการตลาด เพื่อดึดดูดความสนใจจากลูกค้า แต่บางครั้งก็ไม่ได้ผลตามอย่างที่คาดหวังไว้ จึงทำให้หลายแบรนด์รถยนต์เกิดไอเดียในการเลือกใช้กลยุทธ์ Minor Change เพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้าแทน อีกทั้งกลยุทธ์นี้ยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้าอีกด้วย

ทำไมนักการตลาดจึงเลือกกลยุทธ์ Minor Change ในการวางแผนการตลาด

อย่างที่ทุกคนเข้าใจว่ากลยุทธ์ Minor Change คือเป็นการนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เดิมมาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงจุดบกพร่อง หรือเพิ่มเติมฟังก์ชันใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ดีกว่าเดิมมากขึ้น หรืออาจจะเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกเพื่อความสวยงาม ข้อดีของกลยุทธ์ Minor Change ที่ถูกใจนักการตลาดมากที่สุดคือช่วยให้ประหยัดต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เนื่องจากบางครั้งสินค้าเดิมดีอยู่แล้วเพียงแค่ว่ายังมีจุดบกพร่องก็อาจจะทำให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ขายดีมากขึ้น

ทั้งนี้ หลายคนชอบถามกันว่ากลยุทธ์ Minor Change ทุกกี่ปี จึงมีการออกสินค้ามา ต้องบอกว่าขึ้นอยู่ประเภทของสินค้า ถ้าเป็นรถยนต์ส่วนใหญ่แล้วจะ 2 – 3 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับค่ายรถยนต์ด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นสินค้าประเภท Smart Phone อาจจะ 1 – 2 ปี

กลยุทธ์ Minor Change ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจประเภทไหนบ้าง

เมื่อก่อนกลยุทธ์ Minor Change อาจจะอยู่เพียงแค่ในแวดวงธุรกิจรถยนต์เท่านั้น ซึ่งหลายคนสังเกตได้จากที่มีค่ายรถยนต์แบรนด์ดังต่าง ๆ มักจะออกรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ มาทุกปี แล้วตามด้วยรถยนต์รุ่นเดิม แต่ใช้คำว่ามีการเปลี่ยนโฉมใหม่ เพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน รวมถึงมีสีรถยนต์ให้เลือกเยอะขึ้น จึงทำให้เห็นรถยนต์ที่เป็นรุ่นเดียวกันแต่มีหลายเวอร์ชัน ด้วยความที่กลยุทธ์ Minor Change ค่อนข้างเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจ จึงทำให้ธุรกิจอื่น ๆ นำกลยุทธ์นี้มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเอง ดังนี้

สินค้าประเภท Smart Phone

การนำกลยุทธ์ Minor Change มาใช้ในการวางแผนการตลาดที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด ก็ต้องยกให้กับสินค้าในกลุ่ม Smart Phone โดยเฉพาะแบรนด์ดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple , Samsung , Huawei หรือ OPPA เป็นต้น มักจะออกโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ มาทุกปี โดยออกรุ่นย่อยมาปีละครั้ง ซึ่งปรับความโค้ง ปรับความคมชัดของกล้อง ฟังก์ชันการใช้งาน เพิ่มความจุแบตเตอรี่ หรือเพิ่มสีใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อ

สินค้าประเภทเครื่องดื่ม

สินค้าจำพวกเครื่องดื่ม ได้นำกลยุทธ์ Minor Change มาประยุกต์ใช้กับสินค้าเหมือนกัน ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์นี้ ได้แก่ น้ำดื่มทิพย์ ปรับเปลี่ยนขวดหันมาใช้เป็นขวด “อีโค-ครัช” เพื่อลดพลาสติกสามารถบิดได้ และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเครื่องดื่มน้ำอัดลมแบรนด์ “โค้ก” ที่ได้เครื่องดื่ม โค้ก ไม่มีน้ำตาล ซึ่งตอนแรกที่ออกมาวางขาย รสชาติอาจจะยังไม่ถูกปากสักเท่าไหร่ ต่อมาก็ได้นำมาปรับปรุงแล้วออกสูตรใหม่เป็น “โค้กสูตรใหม่ อร่อยซ่า…ใช่กว่าเดิม” ซึ่งรสชาติที่ปรับใหม่ค่อนข้างถูกปากมากขึ้น แถมยังได้เปลี่ยน Package ดีไซน์ใหม่ที่ดูโมเดิร์น โดดเด่นสะดุดตามากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สินค้าประเภทบำรุงเส้นผม

ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมแบรนด์ดัง P&G ก็ได้นำกลยุทธ์ Minor Change มาใช้ในแผนการตลาดเหมือนกัน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ครีมนวดบำรุงผม สูตรเข้มข้น จากเดิมฝาขวดอยู่ด้านบนเวลาใช้ต้องออกแรงบีบ ทาง P&G ออกแบบ Package เปลี่ยนขวดครีมนวดใหม่ โดยเปลี่ยนฝาจากด้านบนมาไว้ด้านล่าง จึงทำให้ใช้งานง่ายขึ้น ฝาเปิดยังใช้เป็นฐานวางได้อีกด้วย ซึ่งกลยุทธ์นี้ช่วยให้ยอดขายพุ่งกระฉูดมากขึ้น

สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ

นอกจากนี้สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ พัดลม เตารีด กระทะปิ้งย่าง หรืออื่น ๆ ได้นำกลยุทธ์ Minor Change มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่เราจะเห็นบ่อยมากที่สุด คงต้องยกให้กับ โทรทัศน์ จากแบรนด์ต่าง ๆ ที่ได้ออกรุ่นใหม่ ๆ มาทุกปี ซึ่งพัฒนามาจากรุ่นเดิม เพิ่มเติมฟังก์ชันการใช้งานมากขึ้น ความคอชัดของภาพ ในขณะที่โครงสร้างโทรทัศน์ก็ยังคงเหมือนเดิม

กลยุทธ์ Minor Change มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของ “สีสัน” อย่างไร

บางครั้งการออกสินค้าใหม่ ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพียงแค่โครงสร้างเดิม เพิ่มเติมคือการเปลี่ยน “สี” ใหม่เท่านั้น แค่นี้ก็สามารถสร้างแรงดึงดูดใจและยังมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เคยได้ยินไหมว่า “สี” สามารถสะท้อนสร้างความรู้สึกในเรื่องการตัดสินใจซื้อสินค้าได้ถึง 85% จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมนักการตลาดจึงเลือกใช้ “สีสัน” ในการออกแบบโลโก้ เว็บไซต์ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

เหตุนี้จึงทำให้นักการตลาดจึงได้นำจิตวิทยาสี มาใช้ในกลยุทธ์ Minor Change เพื่อสร้างการจดจำและดึงดูดใจผู้บริโภค เช่น รถยนต์โมเดลรุ่นเก่ามีแค่สีขาว สีดำ และสีเทา เท่านั้น แต่พอได้มีการปรับโฉมใหม่เปลี่ยนรถยนต์ให้กลายเป็นรุ่นพิเศษ โดยเพิ่มสีแดงเบอร์กันดี ทำให้รถยนต์มีความโดดเด่นมากขึ้น ทำให้กลายเป็นที่สนใจและมีความรู้สึกอยากซื้อขึ้นมาทันที

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าหากนักการตลาด ต้องการใช้กลยุทธ์ Minor Change เราแนะนำให้นำเรื่องของ “สีสัน” มาใช้ด้วย เพื่อสร้างความโดดเด่น ทันสมัย และเกิดแรงกระตุ้นความอยากได้ของผู้บริโภค ที่สำคัญช่วยให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น

คำว่า “Model Change”กับ “Minor Change” แตกต่างกันอย่างไร

หลายคนอาจยังสับสนกันระหว่าง “Model Change”กับ “Minor Change” ขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

Minor Change

คือ การปรับปรุง หรือ ปรับเปลี่ยนสินค้าเดิมที่มีอยู่แล้วเพียงแค่เล็กน้อย เช่น รถยนต์รุ่นเดิม แต่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไฟหน้า ไฟหลัง ประตูรถยนต์ หรือเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน แต่ยังเป็นโครงสร้างเดิม หรือเครื่องดื่ม “โค้ก” สูตรไม่มีน้ำตาล แต่รสชาติยังไม่โดนใจผู้บริโภค จึงต้องมีการปรับสูตรใหม่ พร้อมเปลี่ยน Package ให้ดูโดดเด่นและสวยมากกว่าเดิม

Model Change

คือ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปลี่ยนสินค้าทั้งหมด หรือออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เช่น น้ำอัดลม “โค้ก” จากเดิมเป็นใส่น้ำตาลตามปกติ ด้วยเทรนด์คนรักสุขภาพ จึงได้มีออกสูตรใหม่เป็น “โค้ก ไม่มีน้ำตาล” เพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพที่อยากดื่มโค้ก

หลังจากทุกคนได้อ่านบทความนี้ หวังว่าจะเข้าใจถึงหลักการใช้กลยุทธ์ Minor Change มากขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแผนการตลาดของธุรกิจตนเอง นอกจากนี้แล้วธุรกิจออนไลน์ ก็สามารถนำกลยุทธ์นี้ไปปรับใช้ได้เหมือนกัน สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งหัดขายของออนไลน์ ต้องการผู้ช่วยในการจัดการออเดอร์จัดการระบบหลังบ้าน สามารถให้ ZORT ระบบจัดการออเดอร์และสต๊อกออนไลน์ ช่วยให้คุณสามารถอัปเดตสต๊อกสินค้าอัตโนมัติได้แบบเรียลไทม์ จัดการออเดอร์ให้แบบครบวงจรอย่างเป็นระบบ รวมถึงรายงานผลการขายอัตโนมัติเพื่อช่วยให้คุณดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร 02-026-6423

Line: @zort

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x