Cyberbullying คืออะไร? การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ส่งผลกระทบยังไงบ้าง?

676 views

Cyberbullying คืออะไร?

ถึงแม้ว่าเราจะพบเห็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์จนเป็นภาพชินตา แต่แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรคุ้นชิน และไม่ควรที่จะเพิกเฉย เพราะบ่อยครั้งที่การบูลลี่ในโลกออนไลน์นั้นได้กลายมาเป็นโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้า ที่บางกรณีก็สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำที่อาจเลวร้ายไปจนถึงขั้นอันตรายแก่ชีวิต และไม่สามารถเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้เลย

ในปัจจุบันการกลั่นแกล้งผู้อื่นจากบุคคลหรือกลุ่มคนที่ไม่ประสงค์ดีนั้น ไม่ใช่แค่พฤติกรรมที่ทำแค่ต่อหน้าบุคคลที่ถูกพาดพิงอีกต่อไป เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัย ทำให้เราพบเห็นกรณีข่าว Cyberbullying หรือพฤติกรรม Cyberbullying ผ่านทางบทความหรือข้อความอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนคนทั่วไปสามารถติดต่อกัน และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้จากทั่วทุกมุมโลก แม้แต่ภาษาก็ไม่ใช่อุปสรรคในการกลั่นแกล้ง เพราะระบบบนเว็บเบราว์เซอร์บางประเภท ก็มีระบบแปลภาษาอัตโนมัติ ที่ทำให้การกลั่นแกล้งผู้อื่นนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ภายในเชื้อชาติของตนเองอีกต่อไป

Cyberbullying หมายถึงอะไร?

สำนักงานราชบัณฑิตสภาได้ให้คำนิยามสำหรับคำว่า “Cyber Bully” เอาไว้ว่า เป็นพฤติกรรมการระรานทางไซเบอร์หรือการกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การระราน การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์หรือพิมพ์ต่อว่าบุคคลอื่น รวมถึงการแต่งเรื่องราวหลอกลวง โดยมีจุดประสงค์ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการตัดต่อภาพหรือคลิปวิดีโอที่ส่อไปในทางเจตนาล้อเลียน และการสวมรอยเป็นบุคคลอื่น

สัญญาณของผู้ที่กำลังเผชิญกับการบูลลี่ในโลกออนไลน์

คนใกล้ตัวสามารถสังเกตลักษณะอาการของผู้ที่กำลังเผชิญกับการบูลลี่ในโลกออนไลน์ได้โดยจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการอารมณ์ฉุนเฉียวระหว่างหรือหลังการใช้อินเทอร์เน็ต
  • ปลีกตัวจากเพื่อนสนิทและสมาชิกในครอบครัว
  • มีสมรรถภาพในการทำกิจกรรมที่เคยสนใจลดลง
  • จิตตก หวาดระแวง ไม่ไว้ใจผู้อื่น
  • พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ความอยากอาหารลดลง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสัญญาณพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ที่หากพบเจอว่าเป็นคนใกล้ตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด

Cyberbullying กับวิธีป้องกันเบื้องต้น

  • ไม่ตอบโต้

หากคิดว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ถกเถียงหรือรู้สึกว่ามีการใช้ถ้อยคำ และบทสนทนาที่รุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่ควรทำคือหยุดการตอบโต้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการถกเถียงบนช่องทางออนไลน์

  • ใช้ฟังก์ชันปิดกั้นการมองเห็น

หากรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามจากบุคคลอื่นทางโซเชียลมีเดีย สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือ การเปิดฟังก์ชันปิดกั้นการมองเห็น เพื่อไม่ให้ฝั่งตรงข้ามสามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณได้

  • ขอความช่วยเหลือ

หากเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่บานปลายได้ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิด เพราะบางครั้งอาจจะมีการข่มขู่เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่อาจจะนำไปสู่ความอันตรายเกินกว่าที่คิดได้

  • รายงานไปที่แพลตฟอร์มโซเชียล

เมื่อพบเห็นหรือต้องพบกับเหตุการณ์การบูลลี่ในโลกออนไลน์กับตัวเอง คุณสามารถแจ้งหรือรายงานไปที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น ๆ ได้ โดยแจ้งเหตุผลข้อเท็จจริง และความจำนงในการระงับบัญชีผู้ใช้ หรือลบข้อมูลเท็จต่าง ๆ ที่เป็นการระรานออกทันที

  • จัดเก็บหลักฐานดำเนินคดี

หากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญนั้นเริ่มมีความตึงเครียดสูง คุณสามารถแคปภาพบทสนทนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความร้ายแรงนั้น ๆ เพื่อนำไปแจ้งความ และดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่ทำการข่มขู่ได้เลย เพราะในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับความผิดบนโลกออนไลน์เรียบร้อยแล้ว

การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์มีโทษทางด้านกฎหมาย!

สำหรับผู้ที่รู้สึกตัวแล้วว่ากำลังตกเป็นเหยื่อจากการบูลลี่ในโลกออนไลน์ อยากแนะนำให้รีบตั้งสติให้อยู่กับตัวมากที่สุด จากนั้นทำการเก็บรวบรวมหลักฐานข้อมูลให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ เมื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญได้มากพอแล้ว ขอแนะนำให้ไปแจ้งความกับสำนักงานตำรวจใกล้บ้าน โดยในปัจจุบันนั้นประเทศไทยเองได้มีการออกกฎหมายคุ้มครอง ที่จะสามารถเอาผิดผู้ที่ทำการก่อกวนบนโลกไซเบอร์ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่

  • กฎหมายการหมิ่นประมาท มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง หรือทำให้ถูกเกลียดชัง  ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรืทั้งจำทั้งปรับ
  • กฎหมายมาตรา 328 การกระทำผิดด้วยการทำโฆษณา การสร้างเอกสาร ภาพ วิดีโอ การเผยแพร่เสียง เผยแพร่ภาพ ถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
  • กฎหมายมาตรา 392 การกระทำผิดที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ขู่ทำร้ายนั้นมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กฎหมายมาตรา 397 การกระทำผิด รังแกผู้อื่น ข่มเหง คุกคาม หรือทำให้อับอายเดือดร้อน นั้นมีความผิด ต้องโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

แม้ว่าตัวคุณเองจะไม่ได้ตกเป็นเหยื่อจากการบูลลี่ในโลกออนไลน์ แต่อย่าลืมสังเกตพฤติกรรมคนใกล้ชิดด้วยว่ามีใครที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์น่ากังวลหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกัน และให้การช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่สถานการณ์เลวร้ายจะนำพาไปสู่จุดที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในอนาคต

สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร 02-026-6423

Line: @zort

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x