สรุปให้แล้ว ลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง ยื่นได้ถึงวันไหน ทุกคนควรรู้!
เมื่อเริ่มต้นปีใหม่ของทุกปี สิ่งที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องทำนั่นก็คือ “การจ่ายภาษี” เพราะการจ่ายภาษีถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี โดยมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใครรายได้เข้าเกณฑ์ตามที่กรมสรรพากรกำหนด ก็จะต้องรวบรวมเอกสารที่จำเป็นให้ครบถ้วน และจะต้องเป็นเอกสารที่ถูกต้อง เพื่อนำไปยื่นที่กรมสรรพากร หรือยื่นผ่านทางออนไลน์ ทั้งนี้ ก่อนยื่นภาษีเงิน สิ่งที่ทุกคนควรต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการยื่นภาษีนั้น มีรายการอะไรบ้างที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ หรือรายจ่ายอะไรที่ไม่สามารถใช้ได้ วันนี้ ZORT จึงได้สรุปมาให้แล้วมีรายการลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง มาให้แล้ว สามารถหาคำตอบได้ที่นี่ ครบจบในบทความเดียว!
ใครบ้างมีที่หน้าเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
บุคคลที่มีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลที่มีเงินได้เกิดขึ้นในระหว่างปี ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 ธันวาคม ของปีใด ๆ หรือเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีภาษี โดยมีสถานะอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่กำหนด ดังนี้
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ข้อที่ทุกคนควรรู้ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565
ประชาชนคนไทยทุกคนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งการเสียภาษีมากน้อยหรือไม่เสียภาษี จะขึ้นอยู่เงินได้สุทธิของแต่ละบุคคล โดยจะคิดจากการนำเงินได้ทั้งปี (1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม) มาหักลบกับค่าใช้จ่าย และรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมดที่มีที่สามารถลดหย่อนได้ โดยเงินได้ทั่วไป (เงินเดือน โบนัส หรือค่าจ้าง) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อสรุปรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็ะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี แต่ถ้ารายได้เกินก็ต้องเสียภาษีตามขั้นบันไดที่กรมสรรพากรกำหนด อัตราเสียภาษีเริ่มต้น 5%
ทั้งนี้ รายการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ สามารถช่วยให้รายได้สุทธิลดลงได้ จึงทำให้เสียภาษีในอัตราที่น้อยกว่าคนที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีอะไรเลย ดังนั้น เพื่อให้การยื่นภาษีของคุณเป็นอย่างถูกต้อง และจ่ายภาษีในอัตราที่ควรต้องจ่าย ผู้ภาษีจึงจำเป็นต้องรู้ว่ามีรายการลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง ที่สามารถนำมาใช้ได้ เพื่อจะได้วางแผนในการยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่ามากที่สุด
รายการลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง
เมื่อทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของการลดหย่อนภาษีกันไปบ้างแล้ว คราวนี้ทุกคนคงอยากรู้กันแล้วว่ารายการลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง ต้องบอกว่าลดหย่อนภาษี 2565 สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
1. รายการลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว ถือเป็นรายการพื้นฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี 2565 โดยทุกคนจะต้องใช้รายการเหล่านี้ในการลดหย่อนภาษี 2565 ไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง ดังนี้
- ลดหย่อนภาษีส่วนตัว
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
- ลดหย่อนภาษีคู่สมรส
กรณีจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสไม่มีรายได้ ก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีบุตร
ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (เฉพาะบุตรที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปี และกำลังเรียนอยู่) กรณีที่ลูกคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท ทั้งนี้หากเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
- ลดหย่อนภาษีบิดามารดา
บิดามารดาที่มีอายุ 60 ขึ้นไป และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ซ้ำกันระหว่างพี่น้องไม่ได้ ยื่นได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
- ลดหย่อนภาษีผู้พิการ
การอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท และต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งนี้ ผู้ที่ยื่นใช้สิทธิ์ลดหย่อนจะต้องเป็นผู้ที่ดูแลที่ได้ระบุไว้ในบัตรคนพิการเท่านั้น
- ค่าฝากครรภ์และทำคลอด
กรณีค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่จะต้องไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ครอบคลุมทั้งค่าฝากครรภ์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาลด้วย
2. รายการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกัน
รายการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกันนี้ เฉพาะกลุ่มคนที่ได้ทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพให้ตัวเอง หรือทำประกันให้กับบิดามารดาเท่านั้น จึงสามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี 2565 รายการนี้ได้
- เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป
หากทำประกันชีวิตทั่วไป รวมถึงประกันแบบสะสมทรัพย์ ที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปลดหย่อนภาษี 2565 ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง
เบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ หรือเบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษี ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนภาษี ได้จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของตัวเองและคู่สมรส
สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่ตัวเองและคู่สมรส ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ สามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุดถึง 300,000 บาท กรณีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และเมื่อได้รวมกับหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณต้องไม่เกิน 500,000 บาท
3. รายการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนต่าง ๆ
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน ผู้ที่สามารถใช้สิทธิจะอยู่ในกลุ่มคนทำงาน ที่มีประกันสังคม กลุ่มของข้าราชการ รวมถึงคนที่ลงทุนซื้อกองทุนต่าง ๆ เพื่อนำมาลดหย่อนภาษี 2565 ซึ่งรายการที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษี 2565 มีดังนี้
- กองทุนประกันสังคม
เงินประกันสังคม สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง โดยสามารถลดหย่อนภาษี 2565 ได้สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท จากเดิมประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท เนื่องจากปี 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF: Retirement Mutual Fund)
RMF ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF: Super Saving Funds)
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว โดยคุณสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่าย SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องถือหน่วยลงทุน ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ให้นับจากวันที่ซื้อ ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
4. รายการลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค สามารถใช้สิทธิได้เฉพาะคนที่บริจาคเงิน และได้เก็บใบเสร็จ หรือมีหลักฐานที่สามารถใช้นำมาลดหย่อนภาษี 2565 ได้
- เงินบริจาคทั่วไป หรือ มูลนิธิ และองค์กรสาธารณกุศล
สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี 2565
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ
สามารถนำมาลดหย่อนภาษี 2565 ได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี 2565
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ
สามารถนำมาลดหย่อนภาษี 2565 ได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
5. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ใครที่กำลังผ่อนบ้านกับสถาบันการเงิน สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีได้
- ดอกเบี้ยอสังหาริมทรัพย์
ดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายให้กับสถาบันการเงิน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องเป็นตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้- ดอกเบี้ยจากเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัย โดยผู้ยื่นภาษีต้องอาศัยในบ้านหลังนั้นด้วย
- ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของผู้ยื่นภาษี หรือว่าจะกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
- ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ
- กรณีที่มีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถนำมารวมกันได้ แต่ว่าจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ในกรณีที่กู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน เพื่อใช้ลดหย่อนภาษี
6. รายการค่าลดหย่อนอื่น ๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีในกลุ่มนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล อย่างในปี 2565 มีมาตรการช้อปดีมีคืน ที่ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
- มาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษี 2565 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 30,000 บาท โดยต้องมีเงื่อนไข คือ ต้องซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 65 และต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเท่านั้น
กรณีที่ยื่นภาษีไม่ทันมีโทษอย่างไรบ้าง
ตามที่กรมสรรพากรกำหนดให้บุคคลที่มีรายได้ สามารถให้เริ่มยื่นภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดไป ดังนั้น รายได้ทั้งหมดของปี 2565 สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2566 แต่ถ้าเป็นการยื่นภาษีโดยผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2566 ในกรณีที่ยื่นภาษีไม่ทันจะต้องมีโทษ ดังนี้
- ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
- กรณีมีเงินภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม จะต้องจ่ายเงินภาษีพร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
- กรณีไม่มีเงินภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม ให้จ่ายเพียงแค่ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท เท่านั้น
ดังนั้น ใครที่มีรายได้เกิน 120,000 บาท อย่าลืมเตรียมเอกสารที่จำเป็นจะต้องใช้ยื่นภาษีให้ครบถ้วน รวมถึงให้เช็กว่าตัวเองมีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง ถ้าซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ อย่าลืมขอเอกสารจากบริษัทที่ทำประกันเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี 2565 หรือใครกำลังผ่อนบ้านก็ให้ไปขอเอกสารจากธนาคาร เพื่อจะได้ใช้ลดหย่อนภาษี และที่สำคัญจะต้องยื่นภาษีภายในวันที่กำหนด ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียค่าปรับได้ ส่วนใครที่รู้สึกว่าปี 2565 เสียภาษีเยอะจังเลย แนะนำให้ลองวางแผนการเงินในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้างที่ช่วยเราลดหย่อยภาษีได้ สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่าน
สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 02-026-6423
Line: @zort