อุปสงค์อุปทานคืออะไร? หาคำตอบกฎของอุปสงค์และอุปทานได้ที่นี่

40,520 views

อุปสงค์อุปทานคืออะไร? กฎของอุปสงค์และอุปทานมีอะไรบ้าง?

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เรียนมาด้านการตลาด หรือการทำธุรกิจโดยตรงจะต้องเคยได้ยินนิยามเกี่ยวกับคำว่าอุปสงค์และอุปทานมาแล้วว่าคืออะไร แต่สำหรับใครที่ไม่จบสายเหล่านี้มาโดยตรงอาจจะเคยเห็นผ่าน ๆ เกี่ยวกับกฎของอุปสงค์และอุปทาน ในบทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับคำทั้งสองนี้อย่างละเอียดว่า แท้จริงแล้วอุปสงค์คืออะไร? และจะมีความหมายแตกต่างกับคำว่าอุปทานอย่างไร? ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูกันเลย

อุปสงค์คืออะไร?

คำว่าอุปสงค์หรือที่เรามักจะใช้เรียกทับศัพท์กันอย่างติดปากว่า Demand นั้นหมายถึงปริมาณความต้องการที่จะซื้อสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยมักจะใช้เรียกแทนกลุ่มผู้บริโภคหรือผู้มีกำลังที่จะจับจ่ายสินค้าชนิดนั้น ๆ เท่านั้นที่จะจัดว่าอยู่ในกลุ่มของอุปสงค์ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดอุปสงค์นั้นมีอยู่หลายอย่าง อาทิ กระแสความนิยม รายได้ รสนิยม ฤดูกาล ราคา เป็นต้น 

อุปสงค์มี 2 ประเภทคือ?

สำหรับอุปสงค์ในสินค้าและบริการโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2ประเภท คือ

  • อุปสงค์แต่ละบุคคล

ข้อนี้หมายถึง ความต้องการของแต่ละบุคคลที่อยากจะซื้อสินค้าหรือบริการ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

  • อุปสงค์รวม

อุปสงค์รวมนั้นหมายถึง ความต้องการในสินค้าหรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลหลาย ๆ คน ในตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง หรือที่เรียกว่า Market Demand

ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์และอุปทาน

  • ราคาสินค้า

ณ ช่วงเวลาหนึ่งหากสินค้ามีราคาเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ นี่ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุปสงค์และอุปทานที่แตกต่างกันออกไป เช่น ราคาเนื้อสัตว์ประเภทหนึ่งที่สูงขึ้นเมื่อมีข่าวว่าเนื้อสัตว์ประเภทนั้น ๆ ส่งออกไม่ทันหรือเกิดปัญหาติดขัด ก็จะทำให้กลุ่มผู้บริโภคหันไปซื้อเนื้อสัตว์ประเภทอื่นในท้องตลาดที่มีราคาไม่สูงเท่าแทน

  • รายได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า อุปสงค์คือความต้องการซื้อสินค้า แต่ถ้าหากสังคมในตอนนั้นต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำหรือประชาชนมีกำลังซื้อลดลง ก็จะทำให้คนส่วนใหญ่เลือกบริโภคสินค้าที่คล้ายกัน ซึ่งถึงแม้ว่าบางครั้งสินค้าอาจจะมีคุณภาพที่ต่ำกว่า แต่เมื่อเทียบในด้านราคาแล้วอาจจะสมเหตุสมผลกับสภาวะเศรษฐกิจ และกำลังการซื้อขายในช่วงเวลานั้น

  • จำนวนผู้ซื้อ

สำหรับข้อนี้สามารถยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนได้เลยคือ จากสถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางโรคโควิด19 ทำให้ประชาชนมีความต้องการซื้อหน้ากากอนามัย แต่หน้ากากนั้นมีจำนวนจำกัด และไม่สามารถผลิตออกมาในจำนวนที่รองรับต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ จึงทำให้ราคาของอนากากอนามัยสูงตามไปด้วย แต่มาภายหลังมีผู้ผลิตนำหน้ากากแบบผ้าออกมาจำหน่าย ผู้บริโภคมีตัวเลือกสินค้าที่มากขึ้น จำนวนผู้ซื้อหน้ากากอนามัยแบบแรกก็จะลดลง ทำให้ราคาของหน้ากากอนามัยต้องลดลงตามไปด้วย

  • วัฒนธรรม

ข้อนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยมีปัจจัยหนุนคือ เทรนด์หรือกระแสความนิยมในสินค้าประเภทนั้น ๆ เช่น สินค้าประเภทเสื้อผ้าแฟชัน รองเท้า สมาร์ตโฟน ฯลฯ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ขายจะต้องเรียนรู้เรื่องของอุปสงค์และอุปทานเพื่อที่จะได้ตอบสนองความต้องการของตลาด ณ เวลานั้น ๆ ได้อย่างตรงจุด

กฎของอุปสงค์และอุปทาน

กฎอุปสงค์และอุปทานนั้นเป็นคำเรียกของหลักการ ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคา และปริมาณของความต้องการซื้อหรือขาย

  • กฎของอุปสงค์

กฎของอุปสงค์ หรือ Law of Demand คือปริมาณความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภค หรือเรียกอีกอย่างว่าปริมาณอุปสงค์ (Quantity Demanded) ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ในทางลบกับราคา เมื่อปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลนั้นคงที่ อธิบายง่าย ๆ คือ เมื่อสินค้ามีมูลค่าและราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคก็จะมีแนวโน้มที่ต้องการซื้อสินค้าชนิดนั้นน้อยลง 

  • กฎของอุปทาน

ในทางตรงกันข้ามกับกฎของอุปสงค์ กฎของอุปทาน หรือ Law of Supply นั้น คือปริมาณสินค้าที่ต้องการขาย หรือปริมาณอุปทาน (Quantity Supplied) ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับราคา เมื่อปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลนั้นคงที่ อธิบายง่าย ๆ คือ เมื่อใดที่ราคาสินค้ามีการดีดตัวสูงขึ้น ทางฝั่งผู้ขายเองก็มีแนวโน้มที่จะต้องการขายสินค้าชนิดนั้น ๆ มากขึ้นเช่นกัน

ความสัมพันธ์ของอุปสงค์และอุปทาน

วามสัมพันธ์ของอุปสงค์และอุปทานคือ การที่ตลาดนั้นมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ดุลยภาพ (Equilibrium) หรือความสมดุลของตลาด หมายความว่ามีปริมาณของอุปสงค์และอุปทานที่เท่ากัน จะเรียกราคาที่อยู่ในภาวะดุลยภาพนี้ว่า “ราคาดุลยภาพ” และปริมาณสินค้าเรียกว่า “ปริมาณดุลยภาพ” หากมีปริมาณอุปสงค์มากกว่าปริมาณอุปทาน ก็จะเกิดการขาดแคลนสินค้า (อุปสงค์ส่วนเกิน) แต่ถ้ามีปริมาณอุปทานมากกว่าปริมาณอุปสงค์ ก็จะเกิดสินค้าล้นตลาด (อุปทานส่วนเกิน)

การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทาน

กฎของอุปสงค์และอุปทานนั้นอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคา และปริมาณสินค้า เมื่อปัจจัยอื่น ๆ คงที่ แต่ถ้ามีปัจจัยที่เข้ามาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งอุปสงค์หรืออุปทาน ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าปัจจัยที่จะมากำหนดอุปสงค์หลัก ๆ นั้นมีทั้ง รายได้ ราคาของสินค้า รสนิยม จำนวนผู้ซื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎของอุปสงค์และอุปทานคือ ความยืดหยุ่น (Elasticity) ซึ่งตามหลักทฤษฎีของอุปสงค์และอุปทานนั้น ความยืดหยุ่นคือ การวัดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณอุปสงค์หรืออุปทานต่อปัจจัยที่เข้ามามีส่วนในการกำหนดอุปสงค์หรืออุปทาน กรณีที่พบได้บ่อยคือความยืดหยุ่นในเรื่องของราคา ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงของปริมาณอุปสงค์หรืออุปทานที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงของราคา จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าอุปสงค์และอุปทานนั้นมีการเปลี่ยนแปลงร่วมกันแบบแปรผันตรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยกระตุ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการ ความขาดแคลน กระแสความนิยม ฯลฯ ที่ทำให้เกิดการทำงานของอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั่นเอง

สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร 02-026-6423

Line: @zort

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x