ขายของออนไลน์บน Shopping Platform ฟรีไหม?

815 views

ขายของออนไลน์ผ่าน Shopping Platform ต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง นักขายออนไลน์ควรรู้

 

สมัยนี้อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปซะหมด แม้แต่พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเองก็ตาม จากเดิมที่คนมักจะเดินไปซื้อของเองถึงหน้าร้าน เพราะอยากจะรู้ว่าสินค้าตรงปกหรือไม่ หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเปิดหน้าร้าน เพื่อให้คนเข้ามาเลือกซื้อดูสินค้าจริง แต่ในปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว! เพราะการขายของออนไลน์มันทำได้ง่ายกว่า ไม่ต้องลงแรงหนัก และยังได้เงินมหาศาลอีกด้วย เพราะเหตุผลเหล่านี้เอง จึงส่งผลให้คนหันมาซื้อของและขายของออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้เกิด Shopping Platform ขึ้นมาไม่หยุดหย่อน ซึ่ง Shopping Platform ที่เรารู้จักกันดีก็คือ Shopee Lazada และ Tiktok Shop นั่นเอง

 

แต่ก่อนที่เราจะไปเปิดร้านขายของออนไลน์บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ เราต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม Shopee ผู้ขายมีค่าอะไรบ้าง? ค่าธรรมเนียมขายของ Lazada คิดอย่างไร? หรือถ้าจะขายของใน Tiktok เสียค่าอะไรบ้าง?

 

 

อยากขายของใน Shopee ต้องเสียค่าอะไรบ้าง?

Shopee เป็นช่องทางการขายของที่ได้รับความนิยมสูง เพราะคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการซื้อของในช่องทางนี้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีจุดเด่นในเรื่องของหน้าจอการแสดงผลที่ดูง่าย ค้นหาสินค้าได้ไม่ยาก สินค้าส่วนใหญ่มีราคาถูก แถมยังแจกโค้ดส่งฟรีและโค้ดส่วนลดอยู่ทุกวัน! โดยเฉพาะในช่วงแคมเปญวันเลขคู่อย่าง 10.10 แล้วถ้าเราอยากขายของใน Shopee เสียค่าอะไรบ้างล่ะ? ค่าธรรมเนียม Shopee ผู้ขายคิดอย่างไร? ค่าธรรมเนียมขายของ Shopee แพงไหม? มาดูกันเลย!

 

ค่าธรรมเนียมขายของ Shopee แบ่งตามหมวดหมู่สินค้า

  1. ค่าธรรมเนียมขายของ Shopee แบบร้อยละ 3 (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะคิดกับสินค้าในหมวดหมู่อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) สินค้าในหมวดหมู่ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) สินค้าในหมวดหมู่อุปโภคบริโภค (FMCG) และสินค้าในหมวดหมู่อื่น ๆ (Others) หักด้วยส่วนลดสินค้าที่ผู้ขายรับผิดชอบ โดยไม่รวมค่าขนส่งสินค้าและส่วนลดอื่น ๆ

     

  2. ค่าธรรมเนียมขายของ Shopee แบบร้อยละ 4 (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะคิดกับสินค้าในหมวดหมู่แฟชั่น (Fashion) หักด้วยส่วนลดสินค้าที่ผู้ขายรับผิดชอบ โดยไม่รวมค่าขนส่งสินค้าและส่วนลดอื่น ๆ

 

*ยกเว้นสินค้าบางประเภทในหมวดหมู่ย่อยระดับ 2 ในแฟชั่น คือ แหวน กำไลข้อมือ สร้อย และต่างหู แพลทตินั่มและทอง ซึ่งจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 3 (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ของราคาตั้งต้นของสินค้าในหมวดหมู่แฟชั่น หักด้วยส่วนลดสินค้าที่ผู้ขายรับผิดชอบ โดยไม่รวมค่าขนส่งสินค้าและส่วนลดอื่น ๆ

 

ค่าธรรมเนียมขายของ Shopee แบ่งตามช่องทางการชำระเงิน

การคิดค่าธรรมเนียม Shopee ผู้ขายไม่ได้คิดแค่ตามหมวดหมู่สินค้าที่ระบุไปก่อนหน้านี้เท่านั้น เราต้องมาคำนึงถึงค่าธรรมเนียมจากการชำระเงินของผู้ซื้อด้วยเช่นกัน

 

การชำระผ่านช่องทางบน Shopee

ยกเว้นการผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต และ Special SPayLater

 

  1. ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม 3% ของยอดเงินที่ผู้ซื้อต้องชำระ + ค่าจัดส่งสินค้า โดยคิดจากราคาหลังใช้โค้ดส่วนลดและ Shopee Coins แล้ว

     

  2. ค่าธรรมเนียมการขาย คิดเป็น 3% ของราคาตั้งต้นของสินค้า หักด้วยส่วนลดสินค้าที่ผู้ขายรับผิดชอบ โดยไม่รวมค่าขนส่งสินค้าและส่วนลดอื่น ๆ

 

*ค่าธรรมเนียมการขายของ Shopee 3.21% สำหรับสินค้าหมวดหมู่อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) สินค้าในหมวดหมู่ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) สินค้าในหมวดหมู่อุปโภคบริโภค (FMCG) และสินค้าอื่นๆ (Others) รวมถึงหมวดหมู่ย่อยระดับ 2 ในแฟชั่น คือ แหวน กำไลข้อมือ สร้อย และต่างหูด้วย

 

การชำระผ่านบัตรเครดิตแบบผ่อนชำระ และ Special SPayLater

  1. ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม 3% – 5.5% (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการผ่อนชำระ) ของยอดเงินที่ผู้ซื้อต้องชำระ + ค่าจัดส่งสินค้า โดยคิดจากราคาหลังใช้โค้ดส่วนลดและ Shopee Coins แล้ว

     

  2. ค่าธรรมเนียมการขาย คิดเป็น 3% ของราคาตั้งต้นของสินค้า หักด้วยส่วนลดสินค้าที่ผู้ขายรับผิดชอบ โดยไม่รวมค่าขนส่งสินค้าและส่วนลดอื่น ๆ

หมายเหตุ : อัตราค่าธรรมเนียมขายของ Shopee ที่ระบุในบทความนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> คลิก

 

 

 

อยากขายของใน Lazada ต้องเสียค่าอะไรบ้าง?

ถ้าพูดถึง Shopping Platform เจ้าใหญ่ที่มาควบคู่กับ Shopee จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก Lazada เมื่อก่อนอาจจะแพ้ Shopee ในเรื่องของโค้ดส่วนลดต่าง ๆ แต่ขอบอกเลยว่าปัจจุบันนี้ โค้ดเยอะมาก! ไม่ว่าจะเป็นโค้ดส่งฟรี โค้ดเงินคืน โค้ดลดสำหรับสินค้าในหมวดหมู่ต่าง ๆ และโค้ดส่วนลดหลายต่อ ที่สำคัญก็คือใช้ได้จริงไม่จกตา! นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ใคร ๆ ก็หันกลับมาซบอกช้อปปิ้งบน Lazada ก็ได้

 

การเปิดร้านขายของบนลาซาด้าไม่ยากอย่างที่คิด แถมยังไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเปิดร้านขายของอีกด้วย (ฟรี! ค่าธรรมเนียมขายของ Lazada สำหรับร้านค้าในมาร์เก็ตเพลส ยกเว้นร้านค้าใน LazMall และ Youpik) แต่ค่าธรรมเนียมมันไม่ได้มีแค่ค่าธรรมเนียมในการเปิดร้านเพียงอย่างเดียวน่ะสิ

 

จึงมาถึงคำถามที่ว่า… ถ้าอยากขายของใน Lazada ต้องเสียค่าอะไรบ้าง? ค่าธรรมเนียมขายของ Lazada คิดแบบไหน? และ ค่าธรรมเนียม Lazada ผู้ขายต้องจ่ายอย่างไร? คำตอบก็คือ… ค่าธรรมเนียมขายของ Lazada จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมคงที่ ค่าธรรมเนียมไม่คงที่ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ร้านตัดสินใจออกเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ค่าธรรมเนียมคงที่

  • ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน 3% (เมื่อขายสินค้าได้)
  • ค่าธรรมเนียมการใช้บริการมาร์เก็ตเพลส 1% ของราคาขาย (ราคาสินค้า-ส่วนลดสินค้า) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
  • ค่าคอมมิชชั่น 5% เฉพาะผู้ขายแบบ LazMall (เมื่อขายสินค้าได้)

 

ค่าธรรมเนียมไม่คงที่

  • ค่าธรรมเนียมโปรแกรมส่งฟรีพิเศษกับลาซาด้า 5% ของราคาขายสินค้าต่อชิ้น (สูงสุดไม่เกิน 199 บาท) 
  • ค่าธรรมเนียมโปรแกรมเงินคืนทุกวัน Daily Cashback 3% ของราคาขายสินค้าต่อชิ้น (สูงสุดไม่เกิน 100 บาท)
  • ค่าธรรมเนียมจากโบนัสที่ลูกค้าใช้ เช่น ลูกค้าซื้อสินค้าครบทุก 500 บาทได้รับส่วนลด 40 บาท ลาซาด้าช่วยสนับสนุน 50% ผู้ขายจ่ายเพียง 20 บาทเท่านั้น (ผู้ขายจ่ายเพียง 50% ของส่วนลดโบนัสที่ลูกค้าได้รับ)

 

ค่าธรรมเนียมที่ร้านค้าตัดสินใจออกเอง

  • โปรโมชั่นส่วนลดต่าง ๆ เช่น การลดราคาสินค้า การแจกคูปองส่วนลด ยิ่งซื้อยิ่งลด หรือส่งฟรี เป็นต้น
  • การโปรโมทสินค้าผ่านลาซาด้าและพาร์ทเนอร์
  • การเข้าร่วมแคมเปญลดราคา

 

 

 

ขายของใน Tiktok ต้องเสียค่าอะไรบ้าง?

อย่างที่เราทราบกันดีว่า Tiktok เป็นแพลตฟอร์มที่มาแรงอย่างมาก โดยมีจุดเด่นคือเนื้อหาที่เป็นวิดีโอสั้น มีความกระชับ และไวรัลได้ง่าย กระแสของ Tiktok จะเริ่มจากคลิปวิดีโอต่าง ๆ ก่อน เมื่อเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการเปิด Tiktok Shop ขึ้นมาสำหรับพ่อค้าแม่ค้า เพื่อให้คนจับจ่ายซื้อของได้ง่ายมากขึ้น ดูคลิปจบแล้วสั่งซื้อสินค้าได้เลย โดยไม่ต้องกดลิงก์ออกไปที่แพลตฟอร์มอื่นอีกต่อไป

 

นอกจากนี้ Tiktok Shop ยังเอื้ออำนวยให้ผู้ที่เป็น Influencer และ Content Creator มีรายได้มากขึ้น จากการทำ Affiliate กับร้านค้าต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มอีกด้วย ดังนั้น เราจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมการขายของออนไลน์บน Tiktok Shop ถึงขายออกได้เร็ว ไว และได้รับความนิยมอย่างมาก!

 

ถ้าจะไปเปิดร้านขายของใน Tiktok เสียค่าอะไรบ้าง? ค่าธรรมเนียม Tiktok ผู้ขายสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ไหม? และค่าธรรมเนียมขายของ Tiktok คิดอย่างไร? มาทำความเข้าใจกันได้เลย!

 

ค่าธรรมเนียมขายของ Tiktok

  • ค่าธรรมเนียมการขาย 3% จากยอดรวมของคำสั่งซื้อนั้น ๆ หรือขั้นต่ำ 5 บาทต่อคำสั่งซื้อ
  • ค่าธรรมเนียมคำสั่งซื้อขนาดเล็ก ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 150 บาท (ซึ่งในส่วนนี้ Tiktok จะเก็บเงินเพิ่มกับผู้ซื้อเท่านั้น คนขายอย่างเราไม่ต้องกังวลเลย)

 

ถึงแม้ว่าการขายของออนไลน์จะดูง่ายกว่าและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างหน้าร้านขึ้นมา แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะทำได้เลยฟรี ๆ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร ให้เราคิดว่า Shopping Platform ต่าง ๆ อย่าง Shopee Lazada และ Tiktok Shop นั้น เปรียบเสมือนสถานที่ที่มีคนเดินเลือกซื้อของอยู่ตลอดทั้งวัน มีคนเข้าถึงจำนวนมาก และมีโอกาสที่สินค้าของเราจะถูกขายออกไปได้สูง ถ้าเราอยากขายของได้ เราก็จำเป็นที่จะต้องเสียค่าเช่าพื้นที่นั้นไป ซึ่งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ทาง Shopping Platform ได้กำหนดไว้ก็คือค่าเช่าที่ที่ว่านั้นเอง

 

สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะขายของออนไลน์ช่องทางไหนดี? ขายของกับแพลตฟอร์มไหนคุ้มที่สุด? ให้ลองพิจารณาจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปในบทความนี้ดูก่อน จากนั้นก็ชั่งน้ำหนักค่าใช้จ่ายและกำไรที่น่าจะได้จากการขายของ ว่ามันคุ้มหรือต้องเสี่ยงมากน้อยเพียงใด หากพบว่ามันตอบโจทย์และตรงใจก็ลุยได้เลยไม่ต้องรอ! เพราะคู่แข่งที่พร้อมจะดึงลูกค้าของเราไปนั้นมีมากขึ้นทุกวันนั่นเอง

 

 

สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร 02-026-6423

Line: @zort

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x