ไขข้อข้องใจทุกข้อสงสัย ลิขสิทธิ์เพลง เรื่องใกล้ตัวทุกคนควรรู้ !!

9,208 views

ลิขสิทธิ์เพลง คืออะไร ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง เรื่องง่าย ๆ ที่ควรรู้

บทความนี้ ZORT จะมาว่ากันด้วยเรื่องของ “ลิขสิทธิ์เพลง” ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรต้องรู้! เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ทำให้เราได้ยินข่าวที่เกี่ยวกับร้านอาหาร ร้านกาแฟ รวมถึงสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เพลงอยู่บ่อยครั้ง วันนี้ ZORT ได้รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลง ไม่ว่าจะเป็น วิธีขอลิขสิทธิ์เพลง หรือซื้อลิขสิทธิ์เพลงต้องมีขั้นตอนอย่างไร รวมทุกคำถามน่ารู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงไว้ที่นี่

ลิขสิทธิ์เพลงคืออะไร?

ลิขสิทธิ์เพลง นับเป็นผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา โดยที่ไม่ได้ลอกเลียนงานสร้างสรรค์ของผู้อื่น จึงถือว่าเป็นทรัพย์สิน ทางปัญญาอีกประเภทหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยลิขสิทธิ์จะให้สิทธิ์แก่เจ้าของแต่เพียงผู้เดียว โดยมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ที่เกี่ยวกับงานเพลงที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ดังนี้

  • ทำเพลงซ้ำหรือดัดแปลง 
  • อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิเพลงได้
  • ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ผู้อื่น
  • นำมาสตรีมหรือเผยแพร่เพลงต่อสาธารณะ
  • ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานเพลงให้บุคคลอื่น

ความคุ้มครองลิขสิทธิ์เพลงมีอะไรบ้าง

เมื่อเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงคืออะไรไปแล้ว สิ่งที่ควรต่อมาคือความคุ้มครองลิขสิทธิ์เพลงมีอะไรบ้าง ในหนึ่งเพลงนั้นจะประกอบด้วยหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีผู้ถือครองลิขสิทธิ์ โดยแบ่งความคุ้มครองได้ดังนี้

  • ลิขสิทธิ์ในคำร้อง/เนื้อเพลง (Lyric) หมายถึง คนแต่งเนื้อร้อง จะได้ลิขสิทธิ์ในฐานะงานวรรณกรรม
  • ลิขสิทธิ์ในทำนอง (Melody) หมายถึง คนแต่งทำนอง จะได้ลิขสิทธิ์ในฐานะงานดนตรีกรรม
  • ลิขสิทธิ์ในการเรียบเรียงเสียงประสาน (Arranging) หมายถึง คนเรียบเรียงเสียงประสาน จะได้ลิขสิทธิ์ในฐานะงานวรรณกรรม
  • ลิขสิทธิ์ในการบันทึกเสียง (Sound Recording) หมายถึง คนที่บันทึกเพลง จะได้ลิขสิทธิ์ในฐานะ งานโสตทศันวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียง
  • สิทธินักแสดง (Performer’s Right) หมายถึง คนร้องเพลง หรือ นักร้อง

ลิขสิทธิ์และสิทธิมีความที่เกี่ยวข้องอย่างไร

“ลิขสิทธิ์” และ “สิทธิ” สองคำนี้จะมีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่ความหมายจะแตกต่างกัน คราวนี้ต้องมาดูกันชัด ๆ ว่าทั้งสองคำนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างไร 

  • ลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม คือ งานทั้งหมดที่เกี่ยวกับเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อร้อง ไม่ว่าจะเป็นทำนอง คำร้อง หรือว่าเพลงนั้นจะมีแค่ทำนองอย่างเดียว รวมถึงโน๊ตเพลงที่ได้เรียบเรียงเสียงประสานไว้แล้ว
  • ลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง คือ งานดนตรีที่ประกอบด้วยของเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใดที่มีการบันทึกลงวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ ก็ตาม แล้วสามารถนำเพลงมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น ทั้งนี้ ไม่รวมเสียงประกอบของภาพยนต์ หรือเสียงประกอบอื่น ๆ
  • สิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณะ คือ ทำให้เพลงได้ออกมาปรากฏต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม

เจ้าของลิขสิทธิ์แตกต่างกับศิลปินนักร้องอย่างไร

รู้หรือไม่? ทำไมนักร้องบางคนหรือนักร้องบางกลุ่ม ไม่สามารถร้องเพลงของตัวเองได้ ก่อนอื่นก็ต้องแยกให้ออกก่อน ว่าไม่ใช่ทุกเพลงที่ศิลปินนักร้องเป็นเจ้าลิขสิทธิ์เพลง เนื่องจากศิลปินนักร้องบางคนมีหน้าที่ร้องอย่างเดียว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการแต่งเนื้อร้องหรือทำนองเลย เป็นแค่คนที่เจ้าของค่ายจ้างให้มาร้องเพลงเท่านั้น ดังนั้น ลิขสิทธิ์เพลงจึงเป็นของเจ้าของค่ายเพลง ส่วนถ้าศิลปินนักร้องอยากร้องเพลงตัวเอง ก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพลงได้

เมื่อสร้างสรรค์ผลงานแล้วจำเป็นต้องจดลิขสิทธิ์หรือไม่

ก่อนที่จะไปดูขั้นตอนวิธีขอลิขสิทธิ์เพลง จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าเป็นการไป “แจ้งลิขสิทธิ์” ไม่ใช่ “จดลิขสิทธิ์” จริง ๆ แล้วเมื่อคุณได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเองโดยที่ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร ผลงานชิ้นนั้นก็จะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ เป็นของคนที่สร้างผลงานโดยอัตโนมัติ นับแต่วินาทีที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา นั่นก็หมายความว่าคุณจะแจ้งลิขสิทธิ์หรือไม่แจ้งลิขสิทธิ์ก็ได้ เพียงแต่การทำเรื่องแจ้งลิขสิทธิ์นั้น เพื่อเป็นการแจ้งให้ทางหน่วยงานได้รับรู้ และบันทึกข้อมูลผลงานสร้างสรรค์ชิ้นเท่านั้นว่าตัวคุณเองเป็น “เจ้าของสิทธิ์” ดังนั้น เมื่อถามว่าจำเป็นไหมที่แต่งเพลงแล้วต้องไปแจ้งลิขสิทธิ์ ตอบเลยว่า “หากมีเวลาก็ควรจดไว้ แต่รอทำเพลงไว้หลาย ๆ เพลงก่อนก็ค่อยไปแจ้งลิขสิทธิ์ทีเดียว” เพื่อเป็นปกป้องสิทธิ์และป้องกันคนอื่นมาละเมิดลิขสิทธิ์

วิธีขอลิขสิทธิ์เพลงแบบง่าย ๆ

ส่วนใครอยากจะไปแจ้งลิขสิทธิ์เพลงของตัวเองบ้าง คราวนี้ลองมาดูในส่วนวิธีขอลิขสิทธิ์เพลง ว่าจะต้องทำยังไงบ้าง ดังนี้

  • ดาวน์โหลด แบบ ลข.01 จากเว็บไซต์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา คลิกได้ที่นี่ 
  • เขียนเพลงที่ต้องการจะแจ้งลิขสิทธิ์ลงบนแผ่นซีดี โดยจะต้องเขียนชื่อเพลงและชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ แล้วเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะนำเอาสติ๊กเกอร์หมายเลขเล็ก ๆ มาติดบนแผ่นซีดี 
  • ให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชน พร้อมกรอกข้อมูลต่าง ๆ ลงบนเอกสาร ลข.01 ให้ครบถ้วน อ่านทุกข้อให้ละเอียด ถ้ามีข้อไหนสงสัยแนะนำให้ถามเจ้าหน้าที่โดยตรง เพื่อป้องกันความผิดพลาด
  • นำเอกสาร ลข.01 ที่เขียนเสร็จแล้ว พร้อมกับผลงานไปยื่นที่ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” 
  • เมื่อไปถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้กดบัตรคิวหมายเลข 4 เขียนว่า “ลิขสิทธิ์” 
  • ยื่นเอกสารพร้อมแผ่นซีดีเพลงให้เจ้าหน้าที่ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะปั๊มหมายเลขที่เอกสารให้กับคุณ เมื่อเสร็จสิ้นในการแจ้งลิขสิทธิ์แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะให้คุณถ่ายเอกสารเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานไว้ 1 ชุด 
  • เมื่อถ่ายเอกสารเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ให้นำเอกสารชุดเดิมไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ชุดเดิมอีกครั้ง แล้วจะมีการแจ้งให้คุณมารับเอกสารใบแจ้งลิขสิทธิ์ หรือจะให้ส่งทางไปรษณีย์ไปที่บ้านก็ได้เช่นกัน สะดวกแบบไหนก็แจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้เลย

เปิดเพลงแบบไหนไม่โดนลิขสิทธิ์

หลายคนทำธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ อยากจะเปิดเพลงไพเราะเพื่อสร้างบรรยากาศภายในร้าน แต่บางครั้งก็กลัวว่าจะโดนในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง แน่นอนว่าเพลงที่เปิดในร้านกาแฟหรือร้านอาหารบอกเลยว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะถูกดำเนินคดีได้ ยกเว้นเป็นเพลงที่ไม่มีลิขสิทธิ์ สำหรับใครที่ต้องการจะเปิดเพลงในร้านอาหาร ร้านกาแฟ ลองมาดูวิธีขอลิขสิทธิ์เพลงต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง ดังนี้

  • ให้ตรวจสอบรายชื่อเพลงที่จะใช้เปิดในร้านอาหาร ร้านกาแฟ ว่ามีค่าย/บริษัทไหน ที่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์บ้าง ซึ่งสามารถเช็คได้ที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา คลิกที่นี่ รายชื่อเพลงของแต่ละบริษัทจัดเก็บ จะมีรายชื่อค่าย/บริษัทเพลง เข้าไปดูได้ว่ามีเพลงอะไรบ้าง 
  • เมื่อรู้แล้วว่าเพลงนั้นเป็นของค่าย/บริษัทเพลงไหน ให้ติดต่อเพื่อซื้อลิขสิทธิ์เพลง โดยราคาแต่ละบริษัท และแต่ละเพลงมีราคาไม่เท่ากัน บางค่ายจะมีให้เลือกว่าต้องการรายเดือน/รายปี ก่อนซื้อควรคำนวณว่าคุ้มค่าหรือไม่ หรืออาจจะเลือกใช้เพลงที่ศิลปินหรือค่ายเพลง ประกาศอนุญาตให้ใช้ได้ฟรี โดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์
  • ควรหมั่นตรวจสอบความเคลื่อนไหวของรายชื่อเพลง ที่ได้มีการจดแจ้งจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง 
  • ต้องขออนุญาตในการใช้เพลงให้ถูกต้องกฎหมาย ซึ่งลิขสิทธิ์ในประเทศไทยมีด้วยกันหลายค่าย/บริษัท ที่เปิดให้บริการซื้อเพลย์ลิสต์เพลงที่ชอบได้ สามารถจัดให้เป็นเซ็ตและยังเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

ถึงแม้ว่าคุณจะซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงก็ตาม แต่ต้องบอกก่อนว่าลิขสิทธิ์เพลง ร้านอาหารไม่เจ้าของ จึงไม่สามารถนำเพลงไปดัดแปลงหรือขายต่อได้ ยกเว้นแต่ทำข้อตกลงกับเจ้าของลิขสิทธิ์

ข้อควรระวังเกี่ยวกับละเมิดลิขสิทธิ์เพลง

หลายคนอาจคิดว่าการเปิดเพลงในบ้าน หรือเปิดในร้านอาหารก็ไม่น่าจะผิดอะไรมากมาย เพราะไม่ได้นำเพลงที่ฟังไปขายหรือดัดแปลงอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วการทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง อาจจะถูกดำเนินคดีได้ ดังนั้นข้อควรระวังเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง มีดังนี้

  • ต้องระวัง “นักบิน” ให้มาก ๆ ซึ่งนักบินในที่นี่เป็นคำศัพท์ที่ในวงการใช้เรียกพวก “สายสืบ” ที่ได้ไปตระเวนตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือร้านต่าง ๆ เพื่อจะได้คอยสังเกตว่ามีร้านไหนเปิดเพลงที่น่าจะเข้าข่ายผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพื่อที่จะได้แจ้งจับเจ้าของร้านนั้นนั่นเอง แต่ถ้าใครซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาอย่างถูกต้องก็ไม่ต้องกลัวพวกนักบินเหล่านี้
  • ไม่ควรเปิดเพลงจากวิทยุ หรือ YouTube หลายคนอาจจะหลีกเลี่ยงวิธีขอลิขสิทธิ์เพลงจากค่ายเพลง แต่เลือกใช้วิธีเปิดเพลงจากคลื่นวิทยุ หรือเปิดตามสื่อออนไลน์อย่าง YouTube เสียงดัง ๆ ภายในร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้ฟังด้วย ซึ่งวิธีนี้ผิดตามกฎหมาย เนื่องจากตามกฎหมายได้ระบุไว้ชัดเจนว่าการเปิดวิทยุฟังเพลง ถือว่าเป็นการฟังส่วนตัว และการเปิดให้คนอื่นฟังด้วยนั้นจึงถือว่าผิดกฎหมาย และเข้าข่ายได้ว่าการจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง

คำถาม-คำตอบที่เกี่ยวกับละเมิดลิขสิทธิ์เพลงควรรู้

หลายคนที่ยังดูเหมือนงง ๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลง ZORT ได้รวบรวมทุกคำถามน่ารู้ พร้อมคำตอบมาไว้ให้ที่นี่ มีคำถามอะไรโดนใจบ้างนั้น มาดูกัน

  • หากต้องการเปิดเพลงในร้านอาหารผิดไหม

ถ้าร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดเพลงที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้ฟรีสามารถเปิดได้ หรือถ้าซื้อลิขสิทธิ์เพลงถูกต้องกฎหมาย ก็จะไม่มีความผิดใด ๆ เช่นกัน แต่ถ้ามีการเปิดเพลงโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นการเปิดจากวิทยุ หรือ YouTube ถือว่ามีความผิดอาจจะต้องถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์เพลง 

  • กรณีเปิดเพลงในร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่ไม่รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีโทษอะไรบ้าง

ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท ถ้ามีการทำเพื่อการค้าจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • กรณีนำเพลงไปร้องมีความผิดอะไรบ้าง

หากร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานประกอบการ หรือร้านอื่น ๆ นำเพลงไปร้องโดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงการ Cover แล้วนำลงโซเชียลต่าง ๆ นั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ให้กับตัวเอง หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ทางการค้า ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 4 ปี หรือปรับเงินตั้งแต่ 100,000 บาท จนถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากการอ่านบทความนี้ หวังว่าทุกคนจะมีความรู้ ความเข้าใจ เบื้องต้นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงกันมาบ้าง และใครที่คิดอยากจะเปิดเพลงในร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือจะเปิดเพลงตามงานเลี้ยงต่าง ๆ ควรต้องศึกษาเกี่ยวกับในเรื่องของลิขสิทธิ์เพลง เพื่อป้องกันไม่ให้มีความผิดในการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของบุคคลอื่น ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่อยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ และคุณอาจทำผิดโดยไม่รู้ตัวได้เลย โดยเฉพาะใครที่เปิดร้านอาหาร คาเฟ่ ชอบถ่ายคลิปวิดีโอ หรือร้อง Cover เพลง แล้วอัปลงสื่อโซเชียลต่าง ๆ ยิ่งควรต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงให้มาก

สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร

โทร 02.026-6423

Line: @zort

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x