แชร์ประสบการณ์ เริ่มธุรกิจซื้อมาขายไป ทำสต๊อกอย่างไร?

912 views

 

ปัจจุบันการทำธุรกิจซื้อมา-ขายไป ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แม่ค้า-พ่อค้ารุ่นใหม่ๆก็ไม่ใช่ตาสี-ยายสาอีกต่อไป ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นประเภทคนที่เคยทำงานประจำแล้วเบื่องาน หรือเลิกทำงานประจำไปแล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้มีครบในเรื่องความรู้ (ที่ส่วนใหญ่ระดับปริญญาตรี) แต่ก็มักจะขาดประสบการณ์ในการจัดการธุรกิจของตัวเอง ต้องลองผิดลองถูกกันสักพักจึงจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร? ตัวอย่างคือเราเองค่ะ

 

ต้องเล่าย้อนความกันหน่อย คือเราเองเริ่มอาชีพมนุษย์เงินเดือนเหมือนคนทั่วไปตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี เป็นลูกจ้างเขามาตลอด จนเมื่อถึงเวลาที่รู้สึกว่าเบื่อมากแล้วกับการที่ต้องรับคำสั่งหรือที่เรียกกันสวย ๆ ว่านโยบายเพื่อสร้างรายได้ให้องค์กร (ทำยอดขายให้เจ้าของธุรกิจนั่นล่ะ) จึงเริ่มมองหาอาชีพใหม่ที่เป็นกิจการของตัวเอง ด้วยการที่ชอบค้าขายและคิดว่าตัวเองมีประสบการณ์ด้านการขายมานาน จึงมุ่งไปที่การซื้อมา-ขายไปก่อน เพราะช่วงเริ่มต้นยังไม่อยากที่จะเสี่ยงกับการต้องผลิตคิดค้นสินค้าขึ้นมาเอง เมื่อตัดสินใจได้ว่าเป้าหมายคือการทำธุรกิจแบบนี้ ลำดับต่อไปก็ต้องหาสินค้าที่จะเอามาขายเลยค่ะ

 

เริ่มต้นที่ตัวเราก่อนก็ดีค่ะ ถามตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร เพราะถ้าต้องอยู่กับสิ่งนั้นนานๆ เราต้องรักมันค่ะ ต่อมาต้องหาข้อมูลเยอะหน่อย ดูตลาดให้มากๆว่าอะไรกำลังมา อะไรกำลัง in และอะไรกำลัง out จากนั้นสืบราคาเพื่อเอามาเทียบต้นทุนสินค้า ก่อนตัดสินใจซื้อมาเพื่อที่จะขายไปให้ได้กำไรและต้องไม่เก็บของนาน(เพราะขายไม่ออก)นะคะ อันนี้สำคัญ

 

เราได้ข้อสรุปทั้งจากตัวเองและขอความเห็นจากเพื่อนนักธุรกิจที่มีร้านอยู่แล้ว ว่าควรลงทุนกับเสื้อผ้า เช่น เสื้อยืด เสื้อกล้าม เสื้อเชิ้ตและเป็นของผู้หญิง (คนขายเป็นผู้หญิงนี่นา) เพราะงานแฟชั่นล้วนๆ คุณสาวๆจะซื้อง่ายกว่า แต่ต่อมาก็เพิ่มสินค้าเป็นพวกกระเป๋าผ้า เป้สะพาย และเมื่อเริ่มเข้าฤดูการท่องเที่ยวปลายปี ก็มีหมวกไหมพรมอีก เพื่อที่จะเพิ่มช่องทางรายได้ และทำให้การเลือกซื้อของลูกค้าสนุกมากขึ้นเพราะมีของหลากหลาย
อย่างสุดท้ายในการเริ่มต้นที่สำคัญมากๆ คือ ทำเลของร้านค้าค่ะ .. เราเลือกที่จะเปิด 2 ช่องทาง คือ ร้านค้าออนไลน์ กับ หน้าร้านในห้างสรรพสินค้าที่เป็นการไปเช่าพื้นที่ เหมือนเป็นตลาดนัดติดแอร์

 

 

การเลือกสถานที่เปิดร้านทางออนไลน์ไม่ยากค่ะ เพราะมีเวบไซค์ให้บริการแบบสำเร็จรูปเยอะแยะ เราแค่เลือกให้ได้ว่าจะเปิดกับใคร พอโอนเงินเข้าไปเขาก็ส่งโค้ดส่งวิธีการเปิดมาให้เราเบ็ดเสร็จ จากนั้นเราก็ตกแต่ง ใส่รูป ใส่ข้อความโน่น นี่ นั่นของเราไปเรื่อยๆ หรืออีกวิธีที่ประหยัดกว่าเยอะคือ เปิดร้านออนไลน์ในเฟซบุค อินสตราแกรม แค่เรามีฐานเพื่อนมากพอก็เริ่มได้เลย หรือถ้ามีน้อยจริงๆเราก็ใช้วิธีซื้อโปรโมทที่เฟซบุคเขาเสนอมาก็ได้ อยากให้คนเห็นมากแค่ไหนเพื่อที่จะได้ไลค์มากเท่าไหร่ คุณเลือกจ่ายได้เลยค่ะ ส่วนตัวเราเลือกเปิดทั้งสองอย่างอีกล่ะ และก็ได้บทเรียนว่า ไม่น่าลงทุนเสียเงินไปเปิดร้านออนไลน์สำเร็จรูปเลย เพราะทุกวันนี้คนตื่นมาก็เช้าเฟซบุค อินสตราแกรมก่อนอื่นใดแล้ว แต่กับร้านค้าที่เป็นเวบส่วนตัวของเรานั้นเสียเวลาเสียแรงมากกว่าเยอะ กว่าที่คนจะรู้จักและจำได้ เนื่องจากมีทางเดียวที่เขาจะเข้ามาดูเวบเรา คือต้องใช้วิธี search google เข้าไปแล้วเจอลิ้งค์ของเวบไซค์เรา ซึ่งอันนี้เราต้องทำการตลาด SEO เยอะเลย กว่าชื่อเราจะติดอันดับต้นๆของการค้น

 

แต่การเลือกสถานที่เปิดหน้าร้านจริงสิคะ ยากกว่านะเราว่า..เพราะถ้าไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับสถานที่มันยิ่งจะลำบาก เราเลือกที่จะหาทำเลใกล้บ้านไว้ก่อน เพราะเป็นห่วงเรื่องการเดินทาง ยิ่งใกล้ ยิ่งดีค่ะ ดังนั้นโซนบางนาบ้านเราจึงหนีไม่พ้น เมกาบางนา, ซีคอนสแควร์ และห้างใกล้เคียง แล้วก็มาตกลงเจอกันที่ซีคอนฯ เพราะโจทย์เราบอกว่า “เล็กๆแต่มีคนเดินตลอด” ตลาดนัดในห้างที่นี่จึงตอบโจทย์ได้มากที่สุด ณ ตอนเริ่มต้น ..

 

 

เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ลุยเลยค่ะ เข้าจัดร้านตามวันเวลาที่เริ่มสัญญา จากนั้นนับ 1 เริ่มการขายชิ้นแรกกัน …
เอาเรื่องสัญญาเช่าพื้นที่มาแชร์เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เพราะจุดนี้ก็ต้องให้ความสำคัญด้วย เนื่องจากมือใหม่อย่างเราก็ต้องป้องกันความเสี่ยงไว้ก่อน เราเลือกที่จะไม่ทำสัญญาระยะยาวเพราะต้องขอดูตลาดสักพัก จึงเลือกไว้แค่ 6 เดือน พอเริ่มขายไปแล้วสักสองเดือนจะรู้ว่าควรไปต่อหรือไม่? และเราควรหาลู่ทางใดเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อดี?

 

ในระหว่างที่ขายไป เรื่องการทำบัญชี ยอดขาย สต๊อกสินค้า จะมาเป็นงานประจำวันอีกอย่างไปโดยอัตโนมัติค่ะ สำหรับคนที่จบการตลาดและไม่เคยทำงานบัญชีแบบจริงจังอย่างเรา จะทำยังไงดีล่ะ? ก็ไม่ยากนะ นึกถึงข้อมูลตัวเลขที่เราต้องรู้ในร้านเราให้ได้เป็นพอ มีอะไรบ้าง …

 

ชื่อสินค้า ราคาทุน ราคาขาย จำนวนชิ้นที่ขาย ยอดขาย กำไร สต็อกคงเหลือ ? ณ วันที่ ? และ สิ้นเดือนสรุปยอดอีกทีเพื่อความถูกต้องในการดำเนินธุรกิจ พอไหมเท่านี้? เราว่าเริ่มต้น แค่นี้ก็พอค่ะ จากนั้นจัดทำตาราง excel แบบง่ายๆเลย ใส่ตัวเลขจริงเข้าไปทุกครั้ง ทุกวันที่มีการขาย และนับสินค้า จำไว้ว่า “อย่าลืม” พอแล้ว

 

อ้อ..อีกอย่างที่ไม่อยากข้าม คือ เรื่องการตั้งราคาสินค้า เพราะมันมีหลักเหมือนกัน แต่ถ้าเอาแบบบ้านๆไม่คิดอะไรมาก เราก็เอาต้นทุนทั้งหมดมาบวกกันเข้าไปพร้อมราคาทุนของสินค้า จากนั้นค่อยขอกำไรตามความต้องการของเรา เช่น สินค้าราคาทุน 50 + ค่าเช่าเฉลี่ย 10 + ค่าคชจ.จิปาถะ 20 + กำไร 40 = ราคาขาย 120 บาท/ชิ้น ของจริงควรตั้งตามความเหมาะสมกับสินค้าด้วยนะคะ อันนี้เป็นเพียงสมมุติค่ะ

 

บางคนคิดว่ายุ่งยากนะกับการต้องเช็คสต็อค-เก็บสต็อคสินค้า อันนั้นอาจใช่สำหรับกิจการขนาดใหญ่ แต่สำหรับร้านเล็กๆอย่างเรา สามารถทำสต๊อกได้ง่าย ๆไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดหรอก เราก็เริ่มจากการบันทึกทุกอย่างตั้งแต่ที่ซื้อมาสิคะ เช่น วันที่ซื้อ? สินค้าที่ซื้อ? จำนวนที่ซื้อ? ราคาต่อตัว? ราคารวม? (อันนี้ต้องใส่เพราะเราอาจได้ส่วนลดเพิ่มจากการซื้อแบบขายส่ง) แนะนำว่าให้ขอใบเสร็จรับเงินทุกครั้งที่เราซื้อเพื่อเก็บมาเป็นหลักฐานและสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ในกรณีที่เราอาจลืมจดค่ะ

 

เมื่อบันทึกการซื้อแล้ว ก็ต้องบันทึกการขายออกไปทุกครั้ง เพื่อเป็นการตัดสต็อคอย่างสม่ำเสมอด้วยค่ะ เช่น วันที่ขาย? สินค้าที่ขาย? จำนวนที่ขาย? ราคาขายต่อตัว? ราคาขายรวม? (อันนี้ก็ต้องบันทึกเหมือนกัน กรณีเราให้ส่วนลดเพิ่มกับลูกค้าเช่นกันค่ะ)

 

แล้วก็เอาซื้อ กับ ขาย มาหักล้างกัน เราก็จะได้สต็อกคงเหลือในแต่ละวันแล้วค่ะ แต่ถ้าจะแม่นยำเราควรนับสต็อกคงเหลือ ทุกอาทิตย์ หรือ ทุกสิ้นเดือนเพื่อทบทวนยอดกับตารางที่เราบันทึกไว้ก็จะดีมาก โดยการสร้างตารางบันทึกนั้น แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนเลย แค่เรามีหลักคร่าวๆแบบนี้ไว้เป็นพอ แต่ในการที่จะรู้ว่าเมื่อใดควรเติมสินค้านั่นสิ สำคัญกว่า เพราะตามหลักการตลาดจริงๆ เราไม่ควรปล่อยให้สินค้าเหลือน้อยกว่า 20% ในกรณีที่เป็นสินค้าขายดีและขายได้ต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ เราควรต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าสินค้าที่เรามีอยู่ขายคล่องในระดับใดด้วย? เพราะบางตัวเราซื้อมานานแล้วแต่เพิ่งจะขายหมด อันนี้ก็ควรพิจารณามองหาสินค้าตัวใหม่ๆที่จะเข้ามาทดแทนกันได้ต่อไปดีกว่า

 

ร่วมสนับสนุนและแบ่งปันสาระดี ๆ
“เพื่อให้กิจการรายย่อยของไทย ทำสต๊อกสินค้าได้ง่ายขึ้น”

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : 02-026-6423
อีเมล: support@zortout.com
Line: @zort

 

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x