10 โปรแกรมทำแอนิเมชันฟรีเพื่อมือใหม่ ใช้งานได้ทั้งใน PC, แท็บเล็ตและบนเว็บ
สำหรับมือใหม่ที่กำลังมองหาโปรแกรมสำหรับทำการ์ตูนเคลื่อนไหวอยู่ อาจมีความคิดว่าซอฟต์แวร์ในการสร้างสรรค์งานประเภทนี้คงจะใช้ยากและมีราคาสูงมากอย่างแน่นอน แต่นั่นไม่เสมอไป เพราะ 10 โปรแกรมที่เราคัดสรรมาในวันนี้ ทั้งใช้งานง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย เหมาะกับทั้งนิสิตนักศึกษาที่อยากจะริเริ่มการทำการ์ตูนภาพเคลื่อนไหวไปลงขายใน NFT marketplace หรือเหล่าผู้ประกอบการที่อยากลองทำ Storytelling ง่าย ๆ เกี่ยวกับสินค้าและบริการของตนเอง ซึ่งในบทความนี้เราได้แบ่งออกเป็น ซอฟต์แวร์สำหรับทำแอนิเมชันที่ใช้ใน PC/MAC, แอพทำแอนิเมชันที่ใช้บน Tablet/IPad และแบบที่ใช้งานได้บนเว็บ ลองไปดูกันเลย
โปรแกรมทำการ์ตูนเคลื่อนไหว ใช้งานได้ทั้งบน PC และ Mac
Stykz
จุดเด่น : โปรแกรมสร้างการ์ตูนเคลื่อนไหวแบบก้างปลา (Stick Figure) สามารถสร้างงานได้สะดวก มี UI ที่ค่อนข้างคลีน โปรแกรมมีหลักการใช้งานแบบ Frame-Based ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นสามารถเข้าใจวิธีการสร้างการ์ตูนได้ในทันที ตัวซอฟต์แวร์ค่อนข้างเสถียร
ข้อด้อย : มีรูปแบบการสร้างผลงานที่จำกัดคือวาดได้เฉพาะแบบก้างปลา
OpenToonz
จุดเด่น : เป็นโปรแกรมทำการ์ตูนเคลื่อนไหวแบบ 2D ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก มีฟีเจอร์และเครื่องมือที่หลากหลาย การวางเฟรมจะใช้ XSheets/Timeline ที่ทำให้การควบคุมเวลาในแต่ละฉากทำได้ง่ายและแม่นยำกว่าโปรแกรมอื่น นอกจากนี้ยังมี GTS เป็นเครื่องมือสแกนภาพตามลำดับการ์ตูนที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งพัฒนาโดย Studio Ghibli
ข้อด้อย : ยังคงมีตัวเลือกในการวาดและการออกแบบที่จำกัด การตั้งค่าซับซ้อน
Plastic Animation Paper
จุดเด่น : เป็นโปรแกรมวาดภาพเคลื่อนไหว 2 มิติ ที่เลียนแบบความรู้สึกของการวาดการ์ตูนลงบนกระดาษ มีเครื่องมือช่วยที่หลากหลาย การแก้ไขภาพทำได้สะดวกเพราะมีการทำงานเป็นระบบเลเยอร์ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการใช้ Photoshop สร้างการเคลื่อนไหวด้วยการขยับของเลเยอร์ นอกจากนี้ยังสามารถนำเข้าไฟล์ MP4 ได้ด้วย
ข้อด้อย : ยังไม่พบ
Synfig Studio
จุดเด่น : UI ของโปรแกรมเหมือนกับพวกโปรแกรมตัดต่อวีดิโอทั่วไป ใช้งานได้ง่ายมาก เหมาะสำหรับคนที่อยากถ่ายทอดไอเดียของตนเองเป็นภาพเคลื่อนไหวแต่ไม่มีพื้นฐานเลย สามารถปลั๊กอินเข้ากับซอฟต์แวร์ที่จะช่วยในการทำภาพเคลื่อนไหวตัวอื่นได้
ข้อด้อย : มีปัญหาเรื่องบัคและโปรแกรมดับเองบ่อย อาจต้องใช้งานในคอมพิวเตอร์ที่มีสเปกค่อนข้างสูง
แอพพลิเคชั่นสำหรับสร้างการ์ตูนเคลื่อนไหวบน Tablet และ IPAD
Animation Desk
จุดเด่น : ผู้ใช้สามารถใช้ปากกาที่ติดมากับเครื่องในการสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชันหรือ GIF ได้เลย มีแถบเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อนประกอบไปด้วยฟังก์ชันในการวาดพื้นฐานอย่างแปรงวาดรูปแบบต่าง ๆ การลงสี/เทสี ยางลบ หน้าตาของแอพถูกออกแบบมาให้เป็นมิตรกับเด็ก ตัวแอพใช้เวลาในการเรียนรู้วิธีเพียง 2-3 ชั่วโมงก็สามารถใช้งานได้คล่อง
ข้อด้อย : เวอร์ชันฟรีมีโฆษณาแทรกอยู่ระหว่างการใช้งาน และหัวแปรงสำหรับวาดภาพมีให้เลือกไม่เยอะ
Toontastic 3D
จุดเด่น : เป็นแอพทำแอนิเมชันแบบ 3 มิติ ที่เหมาะกับผู้ใช้งานที่เป็นเด็ก มาพร้อมกับภาพกราฟฟิคที่สวยงาม โดยพื้นฐานสามารถสร้างเป็นการ์ตูนเคลื่อนไหวแบบสั้นได้ 3 แบบ ได้แก่ Short Story (3 ฉาก), Classic Story (5 ฉาก) และ Science Report (5 ฉาก) ซึ่งเราสามารถเพิ่มฉากเองได้ ภายในแอพพลิเคชั่นตัวนี้มีตัวละครเวอร์ชัน 3 มิติพร้อมกับฉากให้เลือกใช้ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าผู้ใช้อยากสร้างเองทั้งหมดแบบเริ่มจากศูนย์ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ข้อด้อย : ไม่เหมาะกับการทำแอนิเมชันขนาดยาว ฟังก์ชันส่วนใหญ่ถูก Customize มาแล้วจึงไม่ค่อยเหมาะสำหรับคนที่ชอบวาดดีไซน์ตัวละครเอง
FlipaClip
จุดเด่น : ใช้สำหรับสร้างแอนิเมชันแบบ 2 มิติ มีเครื่องมือพื้นฐานในการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนคล้ายกับ Animation Desk มีฟังก์ชัน Copy & Paste ช่วยในการสร้างภาพเคลื่อนไหวซ้ำในแต่ละเซ็ต และสามารถแทรกเสียงประกอบลงไปบนตัวแอนิเมชันได้ทันที
ข้อด้อย : หัวแปรงสำหรับวาดภาพมีให้เลือกไม่เยอะ
Web Browser เพื่อการทำการ์ตูนแอนิเมชัน 3D
Clara.io
จุดเด่น : เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างภาพจำลอง 3 มิติ การสร้างแอนิเมชันเป็นแบบ Keyframe คือสามารถระบุตำแหน่งวัตถุตอนเริ่มเคลื่อนไหวและตำแหน่งปลายทางภายในเฟรมเพื่อให้ระบบวิเคราะห์ระยะเวลาในการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติได้เอง นอกจากนี้ภายในเว็บยังมีโมเดล 3 มิติ ให้เอาไปใช้สร้างภาพเคลื่อนไหวได้เลย
ข้อด้อย : ต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา ค่อนข้างเปลืองทรัพยากร, User Interface ขาดความเฟรนลี่กับผู้ใช้ อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้งานไว ๆ และไม่มีพื้นฐานเลย
Powtoon
จุดเด่น : เว็บแอพพลิเคชั่นที่เน้นการสร้างภาพเคลื่อนไหวเพื่อการนำเสนอ บนเว็บไซต์มี Template และตัวละครสำเร็จรูปที่พร้อมใช้งานให้บริการอยู่แล้ว สามารถ Plugin เข้ากับโปรแกรมกราฟฟิคอื่นได้ และสามารถ Export ไฟล์นำเสนอได้หลายรูปแบบ
ข้อด้อย : แบบใช้ฟรีจะใช้ทำวิดีโอได้ไม่เกิน 3 นาทีซึ่งมีความคมชัดสูงสุดแค่ 720P และไฟล์ที่ได้จะมีลายน้ำติด
Animatron
จุดเด่น : ใช้ทำแอนิเมชัน 2 มิติ โดยใช้หลักการเดียวกับการทำ Presentation สามารถเพิ่มตัวการ์ตูนที่มีการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว Text และเลือกฉากได้เลยทันที ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะใช้งานแบบ LITE ที่มีหน้าต่างการใช้งานแบบสำเร็จรูปที่จะมีฉากพร้อมใช้งาน เหมาะกับคนที่ไม่มีพื้นฐานเลย หรือแบบ EXPERT สำหรับคนที่ต้องการสร้างฉากและปรับเปลี่ยนดีเทลในแต่ละสไลด์ด้วยตนเอง
ข้อด้อย : สามารถเพิ่ม TEXT ได้เฉพาะภาษาอังกฤษ, จำเป็นต้องเสียเงินเพื่อที่จะใส่ไฟล์ Audio, การ Export ไฟล์จะมีลายน้ำติด
ถึงแม้ทักษะเรื่องการทำแอนิเมชันจะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายและคงต้องใช้เวลาในการฝึกฝน แต่ทั้ง 10 โปรแกรมที่เรารวบรวมมานี้คือทรัพยากรที่เราสามารถเลือกใช้งานได้ฟรี ตามความสะดวกและความถนัดของตัวเอง อีกทั้งหลายโปรแกรมก็มีฟังก์ชันสำเร็จรูปง่าย ๆ ให้ใช้ได้บนแพลตฟอร์มด้วย ยังไงทุกคนลองใช้โอกาสนี้เรียนรู้การทำการ์ตูนเคลื่อนไหวด้วยตนเองก่อนก็คงไม่เสียหาย
สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร
โทร 02.026-6423
Line: @zort