ทำความรู้จัก Crowdfunding คืออะไร? แหล่งขอเงินลงทุนใหม่ของ SME

678 views

การทำ Crowdfunding ทางเลือกในการระดมทุนของธุรกิจ Startup

เงินทุน นับเป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจหรือการขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น แต่ด้วยจากสถานการณ์ Covid ที่ผ่านมาทำให้หลายธุรกิจ หรือกิจการ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางหรือขนาด SMEs) หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ (Startup) ผลกระทบปัญหาทางการเงินขาดสภาพคล่อง และยังมีปัญหาในการระดมทุน ครั้นขอกู้เงินกับธนาคารในสถานการณ์ตอนนี้ก็คงยาก จากรายได้ และสินทรัพย์ที่มีคงไม่พอใช้เป็นหลักประกัน แต่มีอีกหนึ่งวิธีคือ Crowdfunding ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น วันนี้ ZORT ชวนผู้ประกอบการทุกท่านมารู้จัก Crowdfunding คืออะไร? Crowdfunding ข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง และความแตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปหรือไม่ เราจะมาเล่าให้ฟัง!

Crowdfunding คืออะไร?

Crowdfunding คือ การระดมทุนจากบุคคลทั่วไป หรือนักลงทุนรายย่อย กลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่ธนาคารหรือสถานบันทางการเงิน เพื่อสนับสนุนโครงการหรือธุรกิจกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยที่เจ้าของโครงการต้องนำไอเดีย ความคิดหรือธุรกิจของตนเองออกมาขอระดมทุนจากนักลงทุน เพื่อให้ได้เงินตามที่ต้องการ ซึ่งผู้ระดมทุนได้เงิน ส่วนนักลงทุนได้รับผลตอบแทน โดยผลตอบแทนจะเป็นรูปแบบไหน ผลตอบแทนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการตกลง

โดยรูปแบบการระดมทุนของ Crowdfunding เป็นการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ตัวกลาง (Funding Portal) เพื่อสนับสนุนโครงการกิจกรรม หรือธุรกิจกิจใดธุรกิจหนึ่ง ซึ่งการทำ Crowdfunding เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้

การทำ Crowdfunding มีกี่รูปแบบ

สำหรับรูปแบบการระดมทุนของ Crowdfunding นั้น สามารถแบ่งตามรูปแบบของการระดมทุน และรูปแบบผลตอบแทนได้ทั้งหมด 4 รูปแบบ ดังนี้

1. Donation Based Crowdfunding

 

การระดมทุนในรูปแบบบริจาค คือ การระดมทุนเงินแบบให้เปล่า โดยที่นักลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรเลย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการขอระดมทุนสนับสนุนโครงการ เพื่อสังคม หรือการกุศล เช่น โครงการช่วยน้ำท่วม เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือ โครงการก้าวคนละก้าวของ ตูน บอดี้สแลม เพื่อนำเงินไปมอบให้กับโรงพยาบาล หรือสนับสนุนโครงการที่ตัวเองชื่นชอบ

2. Reward-based Crowdfunding

การระดมทุนเพื่อแลกกับสินค้า คือ การระดมทุนอีกรูปแบบหนึ่ง โดยนักลงทุนจะไม่ได้รับเงินเป็นการตอบแทน แต่ได้เป็นสิ่งของ หรือของที่ระลึก หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ เป็นสิ่งตอบแทนในการลงทุน การทำ Crowdfunding รูปแบบนี้เหมาะสำหรับธุรกิจ Startup ที่ต้องการหาแนวร่วมที่มาสนับสนุนไอเดียในการผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้จริง เช่น ทำหนังสั้น เกม เพลง หรือปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ เป็นต้น

3. Peer to Peer Lending

การระดมทุนคราวด์ฟันดิงแบบกู้ยืม คือ การระดมทุนที่นักลงทุนนั้นจะได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงิน ซึ่งรูปแบบการระดมทุนของ Crowdfunding ลักษณะนี้เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างผู้ที่ให้ยืม (นักลงทุน) และผู้กู้ยืม (บุคคลหรือผู้ประกอบการ) โดยมีแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่คอยรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนตามจำนวนเงินที่ผู้กู้ต้องการ แล้วตัวผู้กู้ยืมจะต้องชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนตามข้อตกลง โดยการระดมทุนนี้จะไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนที่สูง แต่ต้องแลกมากับความเสี่ยงเช่นกัน

4. Investment-based Crowdfunding

การระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ ซึ่งรูปแบบการระดมทุนของ Crowdfunding ค่อนข้างได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากผลตอบแทนสามารถจับต้องได้มากที่สุด โดยนักลงทุนจะได้รับหุ้นและได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งการทำ Crowdfunding ลักษณะนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบย่อย ดังนี้

  • Equity Based Crowdfunding

ผู้ประกอบการหรือผู้กู้ได้ระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้นให้กับนักลงทุน เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นแล้วก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของกิจการตามสัดส่วนเงินที่ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น โดยจะได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรในรูปแบบเงินปันผล และยังสามารถนำหุ้นที่มีไปขายต่อได้อีกด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทที่ได้กำหนดไว้

  • Debt Based Crowdfunding

รูปแบบการระดมทุนของ Crowdfunding คือเป็นการระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้นกู้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องการจะหาเงินทุนจำนวนหนึ่ง แล้วนำหุ้นมาเสนอขายให้กับนักลงทุน โดยผู้ระดมทุนมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ส่วนนักลงทุนมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” แลกกับผลตอบแทนที่ได้รับเป็นดอกเบี้ย ซึ่งผู้ระดมทุนจะต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับนักลงทุนเป็นงวด ๆ ตามระยะเวลาตามที่กำหนด

หุ้นกู้ Crowdfunding VS หุ้นกู้ทั่วไป แตกต่างกันอย่างไร

ใครที่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าระหว่าง หุ้นกู้ Crowdfunding กับ หุ้นกู้ทั่วไป มีความแตกต่างกันอย่างไร ต้องบอกว่า หุ้นกู้รูปแบบการระดมทุนของ Crowdfunding มีมานานในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยยังถือว่าเป็นการระดมทุนที่ค่อนข้างใหม่ เราจึงสรุปมาให้สั้น ๆ เพื่อเข้าใจได้ง่าย ดังนี้

การระดมทุนออกโดย

  • หุ้นกู้ Crowdfunding : บริษัทขนาดเล็ก หรือ Start Up
  • หุ้นกู้ทั่วไป : บริษัท หรือ ธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่

ผลตอบแทน

  • หุ้นกู้ Crowdfunding : ผลตอบแทนประมาณ 4 – 9% ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์และ Credit Rating
  • หุ้นกู้ทั่วไป : ผลตอบแทนประมาณ 1 – 9% ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์และ Credit Rating

ระยะเวลาการลงทุน

  • หุ้นกู้ Crowdfunding : เริ่มต้นตั้งแต่ 1 – 12 เดือนขึ้นไป (สามารถเลือกได้เอง)
  • หุ้นกู้ทั่วไป : เริ่มต้น 12 เดือนขึ้นไป

ความผันผวนการลงทุน

  • หุ้นกู้ Crowdfunding : อัตราผลตอบแทนไม่ผันผวนที่สัมพันธ์กับตลาดหุ้น และตลาดตราสารทั่วไป
  • หุ้นกู้ทั่วไป : ราคาซื้อขายหุ้นกู้มีผลกระทบต่อความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารทั่วไป

ราคาขั้นต่ำในการซื้อขาย

  • หุ้นกู้ Crowdfunding : ลงทุนขั้นต่ำ 50,000 บาท
  • หุ้นกู้ทั่วไป : ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 – 100,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ออกหุ้นกู้กำหนด

ระดับความเสี่ยงการลงทุน

  • หุ้นกู้ Crowdfunding : เกณฑ์พิจารณาเทียบเท่าสถาบันการเงิน สามารถใช้ AI และ Credit Score ประเมินความสามารถในการชำระหนี้
  • หุ้นกู้ทั่วไป : ดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อความสามารถในการชำระหนี้ โดยมีทั้งที่มี Credit Rating และไม่มี Rating

ช่องทางการซื้อขาย

  • หุ้นกู้ Crowdfunding : Funding Portal
  • หุ้นกู้ทั่วไป : ธนาคาร หรือ บริษัทหลักทรัพย์

หลักการทำงานของการระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding)

สำหรับใครต้องการระดมทุน หรืออยากเป็นนักลงทุนบ้าง ก่อนอื่นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ เบื้องต้นเกี่ยวกับการระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) มีหลักการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้มีความเข้าใจในการลงทุน ถ้างั้นเรามาดูหลักการทำงาน ดังนี้

  • ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนในการทำธุรกิจ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ต้องการระดมทุน” จะต้องนำเสนอแผนธุรกิจ หรือโครงการที่ต้องการทำทั้งหมดให้กับ Funding Portal
  • Funding Portal มีหน้าที่คัดเลือกผู้ประกอบการ หรือบริษัท ที่ต้องการระดมทุน โดยผ่านขั้นตอนของการตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น ลักษณะของธุรกิจ สภาพคล่องทางการเงิน และเงินทุนที่ต้องการ จากนั้น Funding Portal นำข้อมูลแผนธุรกิจไปเปิดเผยผ่านเว็บไซต์
  • นักลงทุน หรือผู้ลงทุน เข้ามาเลือกบริษัทที่อยากลงทุนผ่านเว็บไซต์ โดยต้องทำแบบทดสอบ เพื่อจะได้ทดสอบความเข้าใจก่อนลงทุน จากนั้นจึงโอนเงินค่าจองซื้อการระดมทุน
  • โดยเงินของนักลงทุนจะไปเก็บที่ผู้รับฝากทรัพย์สิน หรือเรียกว่า “Custodian” ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เมื่อ Funding Portal สามารถระดมทุนได้เงินตามเป้าหมายแล้วก็ดำเนินการโอนเงินให้กับผู้ประกอบการ หรือบริษัทที่ต้องการระดมทุน แต่ถ้าไม่สามารถระดมทุนเงินได้ตามที่กำหนด เงินที่จองซื้อไว้ก็จะถูกโอนกลับไปยังนักลงทุน
  • ผู้ประกอบการ หรือบริษัท ที่ต้องการระดมทุนดำเนินการออกหุ้นให้กับนักลงทุน จากนั้นนำเงินที่ได้รับไปใช้ตามแผนที่ได้นำเสนอ โดยต้องคอยรายงานความคืนหน้าของแผนงานเป็นระยะ ๆ ให้นักลงทุนได้รับทราบ

ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding)

จากข้อมูลข้างต้น หลายคนยังคำถามสงสัยเกี่ยวกับการระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เราจึงได้สรุปคำถามที่พบบ่อยมากที่สุดมาให้ ดังนี้

  • ผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือไม่

    อยู่ภายในการการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

  • การขอระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่

    ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถขอระดมทุนได้เลย หากคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด

  • อยากระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ต้องเริ่มต้นอย่างไร

    ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ดังนี้

    • จดทะเบียนในรูปแบบ บริษัทจำกัด อย่างน้อย 1 ปี หรือเป็น บริษัทมหาชน ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
    • จดทะเบียนพื้นที่กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครเท่านั้น
    • ต้องทำธุรกิจหรือองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ มีความมั่นคง หรือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทข้ามชาติ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐบาล
    • ที่สำคัญต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นและการพิจารณาเครดิตของ Crowdfunding portal

    o   ขั้นตอนในการระดมทุนคราวด์ฟันดิง ดังนี้

    • ผู้ประกอบการหรือบริษัทที่ต้องการระดมทุน นำเสนอโครงการไปยังเว็บไซต์ตัวกลางหรือ Crowdfunding portal
    • เว็บไซต์ Crowdfunding portal มีหน้าที่ประเมินความเสี่ยง และคัดกรองบริษัทในการระดมทุน
    • จากนั้นเริ่มระดมทุน โดยทาง Crowdfunding portal ซึ่งจะทำการเปิดระบบเพื่อให้เหล่านักลงทุนเข้ามาลงทุนได้
  • ต้องการลงทุน Crowdfunding เริ่มต้นอย่างไร

    สำหรับนักลงทุนที่สนใจต้องการลงทุนในรูปแบบการระดมทุนของ Crowdfunding มีรูปแบบให้เลือกทั้งการลงทุนระยะสั้น และ การลงทุนระยะยาว โดยจะต้องเริ่มต้นลงทุน ดังนี้

    • ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ดังนี้
      • นักลงทุนต้องมีสัญชาติไทย หรือต่างชาติ มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
      • อายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป และมีประสบการณ์ในการลงทุน
      • สถาบันที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์การลงทุน
      • ต้องผ่านกระบวนการ KYC, Suitability Test, Knowledge Test
    • ขั้นตอนในการลงทุน Crowdfunding
      • ลงทะเบียนเป็นนักลงทุน กรอกข้อมูล และอัปโหลดเอกสารพร้อมยืนยันตัวตน
      • ทดสอบระดับความเสี่ยง โดยเป็นการทำแบบทดสอบระดับความเสี่ยงและความรู้ในการลงทุน เพื่อตรวจสอบมีคุณสมบัติหรือไม่
      • เมื่อได้รับอนุมัติเป็นนักลงทุนแล้ว สามารถเริ่มลงทุนได้เลย
  • การระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) แบ่งออกเป็นกี่ประเภท

    สำหรับการทำ Crowdfunding นั้นสามารถแบ่งออกตามวัตถุประสงค์ได้ 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ 1. ต้องการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสังคม และ 2.ต้องการระดมทุนเพื่อธุรกิจ

  • ใครบ้างที่ประโยชน์จากคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding)
    • ผู้ระดมทุน หรือผู้ประกอบการ ช่วยให้ธุรกิจ SMEs หรือ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
    • นักลงทุน หรือ ผู้ให้ทุน Crowdfunding ซึ่งจะมีทั้งนักลงทุนที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน และหวังผลตอบแทน
  • การระดมทุน Crowdfunding มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร
    • ข้อดีของ Crowdfunding
      • เป็นการระดมทุนสามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวก
      • นักลงทุนสามารถลงทุนในจำนวนเงินไม่มาก แถมมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง
      • การทำ Crowdfunding ทางเลือกในการระดมทุนของธุรกิจ SME และ Startup
      • เปิดโอกาสให้ธุรกิจ SME และ Startup ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่
    • ข้อเสียของ Crowdfunding
      • ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมการทำ Crowdfunding ออกมาโดยเฉพาะ จึงทำให้มีความเสี่ยงในการถูกล่อลวงได้
      • นักลงทุนมีความเสี่ยงที่จะได้ไม่ได้ผลตอบแทนคืน เนื่องจากธุรกิจที่ต้องการระดมทุนส่วนใหญ่แล้วเป็น Startup จึงไม่การันตีที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จ
      • มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในเรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัย หรือความไม่มีประสิทธิภาพของเว็บไซต์ Platform

หากอ่านบทความตั้งแต่ต้นจนจบ เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกท่าน น่าจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการระดมทุน Crowdfunding คืออะไร สามารถแยกแยะออกแล้วระหว่าง หุ้นกู้ Crowdfunding VS หุ้นกู้ทั่วไป แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงข้อดีและข้อเสียของ Crowdfunding กันแล้ว สำหรับใครเพิ่งเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ ต้องการหาเงินลงทุน หรือมีธุรกิจขนาดเล็ก อยากขยายให้ธุรกิจเติบโต แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ลองเลือกเป็นการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) น่าจะช่วยให้คุณสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น หรือต้องการผู้ช่วยคุณก็สามารถให้ ZORT ระบบจัดการออเดอร์และสต๊อกออนไลน์ เพื่อเสริมกำลังทัพให้คุณมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร 02-026-6423

Line: @zort

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x