ทำความรู้จักกฎหมาย PDPA คืออะไร? ข้อมูลที่ทุกคนควรรู้!

530 views

กฎหมาย PDPA คืออะไร ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง แล้วเริ่มมีผลใช้เมื่อไหร่

ปัจจุบัน “ข้อมูล” เปรียบเสมือนเป็นหัวใจสำคัญของการต่อยอดธุรกิจ หากบริษัทหรือองค์กรไหนที่มีข้อมูลจากผู้บริโภคมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้เปรียบในเชิงธุรกิจทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เมื่อยุคนี้ข้อมูลมีค่ายิ่งกว่าทอง จึงเกิดมีการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลให้กับบริษัทหรือองค์กร จึงต้องมี พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักว่า PDPA คืออะไร? วันนี้ ZORT จะพาทุกคนทำความรู้จัก กฎหมาย PDPA คืออะไรและเมื่อไหร่บังคับใช้กฎหมายนี้ แบบเจาะลึก จัดเต็ม แล้ว PDPA ต้องทําอะไรบ้าง มาดูกันเลย!

 

PDPA ย่อมาจากคําว่าอะไร

PDPA ย่อมาจาก “Personal Data Protection Act”

 

กฎหมาย PDPA คืออะไร ?

PDPA คือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้น เพื่อสร้างมาตรฐานในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และป้องกันบุคคลอื่นนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ได้อนุญาต ถ้าองค์กรหรือบริษัทใดต้องการข้อมูลส่วนตัวคุณ ไม่ว่าจะนำไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม จะต้องได้รับคำยินยอมของเจ้าของข้อมูลก่อน โดยกฎหมาย PDPA ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562

 

พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  หรือ PDPA เริ่มใช้เมื่อไหร่

เดิมที พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA บังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 แต่จะมีเพียงบางหมวดเท่านั้น เนื่องด้วยจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 จึงได้มีการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกไปจากเดิมอยู่หลายครั้ง จึงทำให้พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA บังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยองค์กรหรือหน่วยงานไหนก็ตาม ทั้งที่มาจากของภาครัฐหรือเอกชนที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าหรือประชาชน จะต้องไปนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในกิจกรรมใดก็ตาม จะเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

 

ข้อมูลส่วนบุคคคล (Personal Data) อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ PDPA คืออะไรบ้าง?  

ทุกคนคงเข้าใจกันแล้วว่า PDPA คืออะไร? แล้ว PDPA เริ่มใช้เมื่อไหร่ คราวนี้ลองมาดูกันว่า ข้อมูลส่วนบุคคคล (Personal Data) อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ก็จะหมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) ที่สามารถระบุตัวบุคคลคนนึงได้ ว่าเป็นใคร มาจากไหน อายุเท่าไหร่ บ้านอยู่ที่ไหน มีอาชีพอะไร ฯลฯ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม กรณีนี้จะไม่นับรวมข้อมูลของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ลองมาดูสิว่าข้อมูลส่วนตัวประเภทไหนที่เข้าข่ายตามกฎหมาย PDPA ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ดังนี้

  • ข้อมูลส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน บ่งบอกได้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูลนั้น
    • ชื่อจริง – นามสกุล 
    • เลขบัตรตัวประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขใบอนุญาตขับขี่
    • ที่อยู่ปัจจุบัน
    • อีเมลส่วนตัว
    • เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว
    • ข้อมูลทางการศึกษาต่าง ๆ
    • ข้อมูลทางการเงิน เช่น เลขที่บัญชีธนาคาร
    • ทะเบียนรถยนต์หรือทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์

 

  • ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน หรือ Sensitive Data ซึ่งเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียดมาก
    • เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์
    • ความเชื่อ ลัทธิ ศาสนา 
    • ความเห็นทางการเมือง
    • ข้อมูลประวัติอาชญากรรม
    • รสนิยมทางเพศ หรือ พฤติกรรมทางเพศ
    • ข้อมูลทางด้านสุขภาพหรือประวัติการรักษา
    • ข้อมูลชีวิภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า และข้อมูลม่านตา
    • ข้อมูลอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น Username/password, Cookies IP address, GPS, ID EMEI หรือ Device ID ฯลฯ

 

ใครบ้างที่ต้องอยู่ภายในกฎหมาย PDPA

เมื่อพอรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA คืออะไรและเมื่อไหร่บังคับใช้กฎหมายนี้กันไปบ้างแล้ว คราวนี้ลองมาดูในส่วนของใครบ้างที่ต้องอยู่ภายในกฎหมายฉบับนี้

  • เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) คือ เจ้าของข้อมูลส่วนตัวก็หมายถึง “ตัวเรา” นั่นเอง ซึ่งตามกฎหมาย PDPA แล้วเจ้าของข้อมูลจะเป็นผู้ที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองและสิทธิต่าง ๆ ที่อยู่เหนือข้อมูลส่วนบุคคลของตน
  • ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูล การนำข้อมูลมาใช้ประมวลผล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหรือลูกค้าที่มาใช้บริการ 
  • ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ดำเนินการที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูล การนำข้อมูลมาใช้ประมวลผล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยทำตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้เป็นผู้ควบคุม หรือตัดสินใจทำด้วยตนเอง

 

บริษัทยุคนี้ต้องเตรียมรับมือย่างไรกับกฎหมาย PDPA

กฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) หรือพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ฉบับนี้ออกมา และ PDPA บังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ทำให้องค์กรต่าง ๆ เริ่มต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้งหลายควรที่จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับกฎหมายฉบับนี้ ดังนี้

  • ศึกษาข้อกฎหมายของ PDPA รวมถึงข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างละเอียด
  • บริษัท/องค์กร จะต้องมีนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล
  • บริษัท/องค์กร ต้องมีการประเมินความเสี่ยงในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่น
  • จัดทำข้อกำหนดและนโยบายต่าง ๆ ขององค์กรในการจัดเก็บมูลภายใน พร้อมทั้งปรับปรุงข้อมูลเดิมที่มีอยู่ให้เป็นปัจจุบัน
  • เตรียมทำแบบฟอร์มเพื่อขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนที่จะเก็บ รวบรวม นำไปใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลทุกครั้ง
  • บริษัท/องค์กร กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ภายใน ไม่ว่าจะเป็น การเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ให้มีความสอดคล้องตามกฎหมาย PDPA
  • มีมาตรการในการแก้ไขปัญหา หรือมีแผนสำรองในการรับมือ กรณีที่มีข้อมูลส่วนบุคคลเกิดการรั่วไหลไปที่อื่น หรือมีการล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล 
  • จัดฝึกอบรมหรือให้ความรู้กับบุคลากรภายในบริษัท/องค์กร ให้มีความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และความสำคัญของกฎหมายนี้ เพื่อจะได้นำไปใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย
  • แต่งตั้งหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักภายในบริษัท/องค์กร ที่มีจะการจัดเก็บ และใช้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า Data Controller เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามกฎหมาย

 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับสิทธิของเจ้าของข้อมูล

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเราแล้ว นอกจากสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับกฎหมายฉบับนี้ ตัวเจ้าของข้อมูลควรต้องรู้เกี่ยวกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองด้วยเช่นกัน ตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง ดังนี้

  • มีสิทธิในการอนุญาตให้มีการโอนข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปยังบุคคลอื่น
  • เจ้าของข้อมูลจะต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่ได้มีการเก็บรวบรวมไว้เมื่อไหร่ก็ได้
  • สิทธิในการขอระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลกับองค์กร/หน่วยงานที่ได้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไป
  • สิทธิในการขอแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้อัปเดตเป็นปัจจุบัน หรือสามารถแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้
  • สิทธิในการคัดค้านการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ข้อมูล รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเรา
  • ได้รับแจ้งให้รู้ก่อนทุกครั้งเมื่อมีเก็บข้อมูล วัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูล หรือเวลาจะนำข้อมูลนี้ไปใช้
  • สิทธิในการแจ้งลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเรานั้นเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้
  • สิทธิในการยกเลิกหรือถอดถอนความยินยมในการเก็บรักษา ใช้ข้อมูล หรือเปิดเผยข้อมูลที่เคยได้ให้ไว้ได้ตลอดเวลา

 

10 เรื่องที่องค์กร / บริษัท / หน่วยงาน “ควรเท” ก่อนจะมีความผิดตามกฎหมาย PDPA

แน่นอนเมื่อกฎหมาย PDPA เริ่มมีการบังคับใช้ สิ่งที่องค์กร บริษัท หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องมีการปรับตัวอย่างแรง งั้นมาดูสิมีเรื่องอะไรบ้างที่องค์กรต่าง ๆ ควรเท ก่อนจะมีความผิดตามกฎหมาย PDPA มาดูกัน

  • เก็บข้อมูลโดยไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ
  • เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้นานเกินความจำเป็น
  • นำข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นไปขายต่อให้กับองค์กรอื่น
  • อนุญาตให้ใคร ๆ ในองค์กรมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลทางดิจิทัล
  • พนักงานในองค์กรมีวัฒนธรรมที่แหละหลวมด้านการดูแลข้อมูล
  • Cyber Security ขั้นพื้นฐานไม่มีการอัปเดตให้มีความเหมาะสม
  • เก็บรวบรวมข้อมูลเกินความจำเป็นที่องค์กรจะต้องใช้ข้อมูลนั้น ๆ
  • นำข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นไปใช้เกินวัตถุประสงค์ที่ได้ขออนุญาต
  • การ Reuse กระดาษหรือเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคลคนอื่นมาใช้งานซ้ำ
  • ในการถ่าย CCTV สถานที่ไม่สมควรหรือไม่เหมาะสม และไม่มีการแจ้งเตือน

 

โทษตามกฎหมาย PDPA คืออะไรบ้าง กรณีที่มีผู้ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล 

เมื่อกฎหมาย PDPA บังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถ้าบริษัทหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย โดยบทลงโทษจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ โทษทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง ตามรายละเอียดดังนี้

  • โทษทางแพ่ง : ค่าสินไหมทดแทน + ค่าสินไหมเพื่อการลงโทษ ไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมที่แท้จริง โดยจะมีอายุความ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงความเสียหาย และรู้ตัวผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่จะต้องรับผิด หรือ 10 ปีนับแต่วันที่มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
  • โทษทางอาญา : 
    • กรณีนำข้อมูลไปใช้ ทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ทำให้ถูกเกลียดชัง หรืออับอาย ได้รับโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    • กรณีนำข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น ไปแสวงหาผลประโยชน์แบบผิดกฎหมาย จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ การลงโทษทางอาญานั้น จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จ และองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น ดูเจตนาของกระทำ และการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร ถ้าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปนั้น เช่น ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่อาศัย หมายเลขบัตรประจำตัว กรณีนี้จะไม่เข้าข่ายองค์ประกอบโทษอาญาตามมาตรา 79 

 

  • โทษทางปกครอง : แบ่งโทษเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 
    • กรณีไม่ได้ขอความยินยอมให้ถูกต้อง หรือไม่แจ้งรายละเอียดชัดเจนให้กับเจ้าของข้อมูลทราบ โดยไม่ให้เจ้าของข้อมูลเข้าถึงสิทธินั้น จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท
    • หากเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น โดยปราศจากฐานทางกฎหมาย จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
    • หากเก็บรวบรวม ใช้ หรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหวของคนอื่น โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000,000 บาท

 

สรุป 4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA

พอได้อ่านบทโทษตามกฎหมาย PDPA แล้ว เชื่อว่ามีอีกหลายคนเริ่มกังวลและกลัวเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ จนเกิดความสับสนเป็นอย่าง อย่างเวลาไปเที่ยวแล้วอยากถ่ายรูปตัวเองลงโซเชียลมีเดียต่าง ๆ รูปดันไปติดคนอื่นก็กลัวว่าผิดกฎหมาย ปัญหาเหล่านี้ทำให้หลายคนกังวลใจเป็นอย่างมาก เราจึงสรุป 4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA ดังนี้

  • กรณีถ่ายรูป หรือ คลิปวิดีโอต่าง ๆ แล้วติดภาพคนอื่น โดยที่บุคคลนั้นไม่ได้ยินยอมจะผิด PDPA ไหม?
    • ในกรณีที่มีการถ่ายรูป หรือ คลิป แล้วติดบุคคลอื่นโดยที่คนถ่ายรูป หรือ คลิป ไม่ได้มีเจตนาและในการถ่ายรูปหรือคลิปดังกล่าว ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับคนที่ถูกถ่ายเลย ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
  • กรณีนำคลิปหรือรูปภาพที่ติดคนอื่น ไปโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยที่บุคคลอื่นไม่ได้ยินยอมจะผิด PDPA ไหม?
    • สามารถโพสต์คลิปหรือรูปภาพได้ ต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวเท่านั้น โดยไม่แสวงหากำไรหรือเพื่อทางการค้า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
  • ถ้าติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนจะผิด PDPA ไหม?
    • สำหรับการติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน ถ้าหากติดเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าของบ้านและบุคคลอื่นภายในบ้าน
  • กรณีติดกล้องวงจรปิดภายในรถยนต์ส่วนตัว แล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนจะผิด PDPA ไหม?
    • กรณีนี้เจ้าของรถยนต์ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน ถ้าหากติดเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยของเจ้าของรถยนต์
  • เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้หรือเผยแพร่หรือไม่?
    • ไม่จำเป็น ที่จะต้องขอความยินยอม ถ้าหากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
      • เป็นการทำตามสัญญา
      • หากมีการใช้ข้อมูลตามที่มีกฎหมายให้อำนาจ
      • เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อรักษาชีวิต และ/หรือ ร่างกายของบุคคล
      • เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
      • เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ
      • เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตน

 

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA คืออะไร หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้สำหรับผู้คนไม่มากก็น้อย ซึ่งก่อนอื่นก็ต้องยอมรับว่ากฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่มาก ๆ สำหรับผู้ประกอบการของไทย ทำให้หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัว เตรียมความพร้อมเป็นอย่างมาก และให้ความสำคัญในสิทธิด้านข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหรือลูกค้าที่มาใช้บริการมากขึ้น เพราะถ้าหากมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อาจจะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายได้

 

สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร

โทร 02.026-6423

Line: @zort

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x