รู้จักกลยุทธ์การตลาด ER-OR เมื่อคนไทยชอบตามกระแสกันเป็นทอด ๆ

2 views

เพื่อนบอกดี เราก็เอาด้วย! เจาะลึกนิสัยคนไทยที่ชอบคล้อยตามกันผ่าน ER-OR Marketing

 

อะไรที่กำลังเป็นกระแส อะไรกำลังมาแรง เหล่าคนดังและอินฟลูเอนเซอร์ก็จะแห่กันมารีวิวตาม ๆ กัน เพราะกลัวตกเทรนด์ และถ้าคุณเองเป็น 1 ในคนที่ตามกระแส เห็นเขารีวิวอะไรกันก็อยากไปลองซื้อมาใช้ ซื้อมากินตาม ไม่ว่าจะเป็น น้ำปั่นเจ้าดัง โดนัทยอดฮิต หรือต่อคิวเพื่อซื้อ Art Toy สุดน่ารัก รู้ตัวไหมว่าคุณกำลังตกอยู่ในกลยุทธ์การตลาดแบบ ER-OR เข้าแล้ว! บทความนี้ ZORT จะพาทุกคนไปเจาะลึกพฤติกรรมการตามกระแสคนไทยหรือ ER-OR Marketing ที่อาจช่วยให้คุณเข้าใจและออกแบบการตลาดได้ตอบโจทย์พวกเขามากยิ่งขึ้น

 

Highlight & Summary

  • เทรนด์การตลาดแบบ “เออ-ออ” จาก CMMU เผยว่าคนไทยชอบคล้อยตามคนในสังคม อะไรที่คนไทยกำลังฮิตกัน ก็จะรีบไปต่อคิวหรือซื้อมาตาม ๆ กัน
  • ปัจจัยหลักที่ทำให้คนเกิดพฤติกรรมแบบ “เออ-ออ” คือ FOMO หรือ Fear Of Missing Out กลัวว่าจะตกเทรนด์ จนถูกกีดกันออกจากสังคม
  • กลุ่มธุรกิจที่ได้รับอิทธิพลจาก ER-OR Marketing คือ อาหารและเครื่องดื่ม โดยกลุ่มตัวอย่างถึง 36.4% เลือกจะคล้อยตามเพื่อน เมื่อนึกไม่ออกว่ากินอะไร

 

Two happy females shopping. Customer select product promotion and shopping online from mobile phone. Business idea concept.

ER-OR Marketing คือ พฤติกรรมการคล้อยตามกระแสของคนไทย

 

การตลาดแบบ ER-OR คืออะไร 

ER-OR Marketing คือ เทรนด์การตลาดแบบ “เออ-ออ” ที่บ่งบอกพฤติกรรมการคล้อยตามกระแสหรือซื้อสินค้าตามกันของคนไทย เห็นอะไรกำลังเป็นกระแสก็แห่ซื้อตามกันไปหมด โดยผลการศึกษาวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยถึงแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยเกิดพฤติกรรม “เออ-ออ” ทั้งหมด 3 ปัจจัยด้วยกัน 

 

Social Influence อิทธิพลจากสังคม

ด้วยอิทธิของสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน บวกกับความมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อจากอินฟลูเอนเซอร์ ทำให้คนไทยคิดและตัดสินใจซื้อรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม ยิ่งเห็นคนดังรีวิวว่าดีเข้าบ่อย ๆ ก็ยิ่งจะรู้สึกว่าของมันต้องมี และมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการที่คนดังรีวิวนั้นมีคุณภาพดีจริง ๆ

 

Bandwagon Effect อยากถูกยอมรับจากคนในสังคม

ลึก ๆ แล้ว ER-OR Marketing ทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกที่ต้องซื้อ เพราะต้องการถูกยอมรับจากคนในสังคม ถ้าได้ซื้อสินค้าหรือบริการที่สังคมกำลังฮิตกัน ก็จะไม่รู้สึกแปลกแยกและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนั้น ๆ

 

Fear Of Missing Out (FOMO) กลัวตกกระแส

Fear Of Missing Out เป็นหลักจิตวิทยาที่ใช้อธิบายความรู้สึก “กลัวตกเทรนด์” กลัวว่าตัวเองจะพลาดอะไรไปจนไม่ทันชาวบ้าน หันไปทางไหนคนก็ซื้อกัน ฉันเองก็อยากเป็นคนนั้นบ้าง ถือเป็นแรงจูงใจที่อธิบายถึงที่มาของกลยุทธ์การตลาดแบบ ER-OR ได้ดีที่สุด

 

ธุรกิจอาหาร คือกลุ่มธุรกิจที่คนไทยคล้อยตาม ER-OR Marketing มากที่สุด

 

3 กลุ่มธุรกิจที่คนไทยคล้อยตาม ER-OR Marketing มากที่สุด 

 

1. อาหาร

  • ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน กว่า 60.6% เผยว่าตนมักจะตามกระแสในหมวดหมู่อาหาร-เครื่องดื่มมากที่สุด โดยเฉพาะเพศหญิง GEN Z ตามมาด้วย LGBTQIA+ และเพศชาย 
  • สำหรับประเภทของอาหารที่คล้อยตามมากที่สุด ได้แก่ บุฟเฟต์ ร้านคาเฟ่ และร้านอาหารนานาชาติ ตามลำดับ
  • แพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลในการเลือกร้านอาหาร-เครื่องดื่มมากที่สุด ได้แก่ TikTok
  • 36.4% เลือกที่จะ “เออ-ออ” ตาม “เพื่อน” เมื่อคิดไม่ออกว่าจะกินอะไรดี

 

2. เทคโนโลยี

  • เพราะกระแสเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มาไวไปไว ถ้ามีหรือได้ใช้ก่อนใครคือกำไรชีวิต
  • กลุ่มคนที่ตามกระแส “เออ-ออ” ในหมวดเทคโนโลยีมากที่สุดคือ เพศชาย GEN Y รองลงมาคือ เพศหญิงและ LGBTQIA+ 
  • สินค้าไอทีที่เพศชายและ LGBTQIA+ ให้ความสนใจคือ โทรศัพท์และแท็บเล็ต ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้ามักจะได้รับความนิยมในหมู่เพศหญิงมากกว่า
  • คนไทย “เออ-ออ” กับสินค้าเทคโนโลยีจาก YouTube ที่มีการอธิบายข้อมูลแบบวิดีโอยาว เพราะมองว่าให้ข้อมูลได้ครบถ้วนและมีความน่าเชื่อถือสูง

 

3. การลงทุน

  • คนไทยมองว่าช่วงนี้สินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุดคือ “ทองคำ” ด้วยราคาที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ 
  • แพลตฟอร์มที่นักลงทุนไทยใช้ในการศึกษาหาข้อมูลลงทุน ได้แก่ YouTube และ Facebook 
  • Fear Of Missing Out เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนหันมาสนใจลงทุนกันมากขึ้น

 

 

แบรนด์ควรออกแบบกลยุทธ์ ER-OR Marketing ด้วยการสร้างแคมเปญการตลาด

 

ออกแบบกลยุทธ์การตลาด ER-OR อย่างไรให้ถูกใจผู้บริโภค

หลังจากทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมคนไทยในช่วงนี้กันไปแล้ว ทาง CMMU ก็ได้แนะนำตัวอย่างการออกแบบกลยุทธ์ ER-OR Marketing ให้สามารถมัดใจกลุ่มเป้าหมายได้ และมีความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว

 

  • “E” Engagement สร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคผ่านแคมเปญการตลาด กิจกรรม คอนเทนต์ หรืออีเวนต์ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์
  • “R” Reliability ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ ด้วยรีวิวจากผู้ใช้จริง มีผู้เชี่ยวชาญรับรอง รวมถึงการรักษาคุณภาพของสินค้าไปจนถึงการบริการของพนักงาน จะช่วยส่งผลต่อการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น
  • “O” Outstanding ความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร จะช่วยให้ผู้บริโภคสนใจแบรนด์ของคุณได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • “R” Relationship รับฟัง Feedback ของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และนำมาปรับปรุงแก้ไขแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น จะทำให้ลูกค้ารู้สึกไว้วางใจในตัวแบรนด์และอยากบอกต่อให้คนอื่นหันมาใช้บริการ

 

สรุป

กระแส “เออ-ออ” หรือ ER-OR Marketing คงเป็นพฤติกรรมการจับจ่ายของคนไทยไปอีกนาน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว อาจทำให้ผู้บริโภคมานึกได้ภายหลังว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการจริง ๆ ดังนั้น แบรนด์ควรสื่อสารการตลาดและออกแบบกลยุทธ์ให้รอบคอบ ไปจนถึงการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ลูกค้าที่ซื้อไป รู้สึกผิดหวังในตัวผลิตภัณฑ์เพียงเพราะเป็นกระแส แต่กลับไม่มีคุณภาพอย่างที่คาดหวังไว้

 

 

 

สนใจใช้ระบบจัดการร้านค้าครบวงจร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร 02-026-6423

Line: @zort